ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้ขับเคลื่อนการผลิตพืชแบบไม่เผาในพื้นที่นำร่อง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ (แม่แจ่มโมเดล) และ อ.ปง จ.พะเยา (พะเยาโมเดล) โดยได้เริ่มต้นโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 66 สอดรับกับ นโยบายของ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีข้อสั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ ทั้ง 17 จังหวัด เร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ“
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้รับนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติทันที และได้ร่วมประชุมแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ กรมควบคุมมลพิษ เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ภาคเกษตร เพื่อนำเสนอต่อ “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้แทนกรมควบคุมมลพิษเป็นกรรมการ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ มีเป้าหมายหลักที่สำคัญดังนี้
-เป้าหมายทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชไม่เผา/เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุ ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบเกษตร มีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างถูกต้อง
-เป้าหมายด้านการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนของกรมควบคุมมลพิษ มีเป่าหมายในการทำให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น นำไปขยายผลการผลิตด้านการเกษตรที่ยั่งยืนภายในประเทศ ด้วยการจัด Workshop เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชที่ยั่งยืนในภาคเกษตรในประเทศลาว และเมียนมาร์ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมวิชาการเกษตร) และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ) และกระทรวงการต่างประเทศ จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า แนวทางการจัดการด้านการเกษตร ในโครงการส่งเสริมการจัดการเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 สำหรับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใต้มาตรฐานการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตรจะมีการนำร่อง ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ (แม่แจ่มโมเดล) และ อ.ปง จ.พะเยา (พะเยาโมเดล) โดยใช้แนวทาง 3R เพื่อลดปัญหา PM 2.5 Refer Standard มาตรฐานการผลิตพืช GAP PM 2.5 Free ลดการเผา เพิ่มแรงจูงใจ ตรวจสอบย้อนกลับได้Replace with perennial crops ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูง เปลี่ยนพืชปลูกข้าวโพดเป็นไม้ยืนต้น (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด ฯลฯ) และการเปลี่ยนพฤติกรรมจากปลูกพืชเดิมเป็นพืชมูลค่าสูง Replace with alternate crops ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ (ปลูกข้าวโพดทนแทนพื้นที่สูงบนพื้นที่นอกเขตชลประทาน/ไม่เหมาะสำหรับทำนาปรัง)
โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการและสนับสนุนในกลุ่มภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมพัฒนาที่ดิน, กรมชลประทาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (GISTDA) รวมถึงภาคเอกชน เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย เพื่อรับซื้อผลผลิตในโครงการ ในราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรที่ไม่ได้ทำ PM 2.5 Free และ Low Carbon’s
สำหรับข้อมูลการเผาในพื้นที่เกษตร มาจากข้อมูลดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบจุดความร้อนทั้งภายใน และภายนอกประเทศ อาศัยดาวเทียมที่มีอยู่ เช่น Terra ระบบ MODIS ดาวเทียม Aqua ระบบ MODIS ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ที่สามารถตรวจสอบจุด หรือพื้นที่ที่มีความร้อน ตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้ Burn Scar/area ใช้ดาวเทียม Landsat 8, 9 และดาวเทียม Sentinel -2A, 2B ซึ่งจากการตีความภาพถ่ายจากดาวเทียมทำให้สามารถทราบถึงพื้นที่การเผาไหม้ทั้งในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับการเผาในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งทั้ง 2 กรม เห็นชอบที่จะกำหนดแนวทางในการจัดทำ “GAP Modify Trace Back” ร่วมกัน โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมส่งเสริมสหกรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (GISTDA) มาร่วมกันจัดทำ นำร่องในพื้นที่ป่าที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อขอใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ อาทิเช่น ค่ามาตรฐานเกณฑ์/ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย (Air Quality Index, AQI) ซึ่งสอดคล้องกับค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในแต่ละพื้นที่สถานีตรวจวัด (อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่) จะสามารถตรวจสอบสภาพอากาศบริเวณพื้นที่ภายใต้โครงการวิจัยฯ ผ่านทางแอปพริเคชันของกรมควบคุมมลพิษ AIR4Thai ข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่สถานีตรวจวัด รายงานสถานการณ์ประจำวันของสภาพภูมิอากาศ พยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน คำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ประชาชน หากสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน จะทำให้การแก้ปัญหา หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี2567 มีแนวโน้มที่ดีและเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน