“เรืองไกร” หิ้วเอกสาร ร้องกกต.สอบ “ไชยา-สุทิน” มีพิรุธถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนผ่านคู่สมรส เข้าข่ายผิดมาตรา 187 ชงศาลรธน. ฟันพ้นตำแหน่ง
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือถึงกกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 2 คนของพรรคเพื่อไทย คือ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายสุทิน คลังงแสง รมว.กลาโหม เนื่องจากตรวจสอบพบความผิดปกติในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน โดยพบว่า อาจมีการครอบครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด เกิน 5 % ตามที่กฎหมายกำหนด เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว กำหนดครอบคลุมไปถึงคู่สมรสด้วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในส่วนของนายไชยา นั้นตรวจสอบข้อเท็จจริง จากเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีรับตำแหน่งรมช.เกษตรฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ซึ่งแจ้งข้อมูลที่ค่อนข้างแปลก เพราะในวันที่ 16 ก.ย. 2566 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรากฎชื่อนางอัญชลี พรหมา คู่สมรส เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา” ได้รับชำระเงินลงหุ้น เป็นเงิน 400,000 บาท ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อของน.ส.อธิษฐาน พรหมา ซึ่งเป็นลูกสาว เพื่อชำระเป็นเงินลงหุ้น โดยแจ้งว่าเป็นการเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีบุญเรืองวัฒนา สรุปเป็นการชำระเป็นเงินสดลงหุ้น 400,000 บาท ไว้ โดยไปเอามูลค่าของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมกำไรสะสม ซึ่งควรจะเป็นของห้าง ไม่ใช่เป็นของตัวเองมายื่น
ดังนั้น จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 16 ก.ย. ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเข้าข่ายความผิดมาตรา 187 ว่า รัฐมนตรีต้องไม่คงไว้ซึ่งหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท จำกัด เกิน 5% พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี 2543 คล้ายกับกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่ไม่ได้ร้องท่าน เพราะเห็นว่า เอกสารที่จดไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ถ่ายโอนออกไปก่อน แต่คนร้องเข้าว่าท่านโอนในลักษณะนิติกรรมอำพราง สืบพยาน 4 ปาก
กรณีนายไชยา เป็นหลักฐานที่ภรรยาท่านเซ็นเองและแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงมีข้อสังเกตว่าทำไมยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ ทั้งที่ความเป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการควรมาจากคนที่เป็นหุ้นส่วน ถ้าโอนให้ลูกสาวแล้ว ก็ควรเป็นลูกสาวที่เป็นคนเซ็นเอกสารนั้น เรื่องนี้นายไชยาก็ต้องชี้แจงว่า จาก 4 แสนบาท เป็น 4 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นซึ่งถ้ายังคงถือหุ้นอยู่ ไม่ได้ฝากโอนหุ้น เป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหาข้อเท็จจริง โดยกกต. ต้องหาข้อเท็จจริงว่า นายไชยาได้โอนหุ้นตามเงื่อนไขในพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนหรือไม่ ซึ่งต้องแจ้งป.ป.ช.ใน 30 วัน
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ส่วนการยื่นบัญชีของนายสุทิน ก็พบว่ามีการยื่นบัญชีที่แปลกเช่นกัน โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่เข้ารับตำแหน่ง ยื่นว่าคู่สมรสมีเงินลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดคลังแสงอีสาน 1.5 ล้านบาท แล้วพบว่ามีเศษสตางค์ด้วย แต่เมื่อย้อนไปดูเมื่อเดือน 20 มี.ค. 2566 ก็พบว่า ลงไว้ 1 ล้านบาท แล้ว 5 แสนบาทนี้เพิ่มมาจากที่ไหน ซึ่งจากการตรวจสอบงบกำไร ขาดทุนปี 2565 พบว่า 1.5 ล้านบาท เป็นยอดรวมของหุ้นส่วนกับหนี้สินถือว่าผิด แต่ป.ป.ช.ตรวจสอบกลับไม่เอะใจอะไร อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ภรรยานายสุทินถือว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ยังถือหุ้นอยู่ ซึ่งต่างจากของนายไชยาที่เปลี่ยนไปเป็นชื่อของลูกสาวแล้ว แต่ของนายสุทินยังเป็นชื่อของภรรยา อยู่และถือในระยะเวลาเกิน 2 เดือน ถือว่าเกิน 30 วันตามกฎหมาย ดังนั้นเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบโดยเร็วว่า ณ วันที่ 3 พ.ย. 2566 นายสุทิน ในฐานะรมว.กลาโหม ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด คลังแสงอีสาน 1 ล้านบาท ในนามคู่สมรส เกิน 5% หรือไม่ ซึ่งหากพบว่า ยังมีการคงไว้ จะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสุทิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
“ขอให้ กกต. นำพ.ร.บ.ห้างจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาประกอบการพิจารณาด้วย หาก กกต. เห็นว่า รัฐมนตรีทั้ง 2 คน มีเหตุเข้าข่ายจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ขอให้รีบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนด้วย” นายเรืองไกร กล่าว และว่า นอกจากนี้ ตนยังมีการรวบรวมข้อมูลของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองอีกจำนวนมากที่พบว่ามีข้อน่าสังเกต ซึ่งหลังจากนี้จะมีการยื่นให้ตรวสอบยกเข่งเลย”
นายเรืองไกร กล่าวในตอนท้ายว่า อีกเรื่องตนขอติงผ่านสื่อถึงการทำงานของป.ป.ช.ด้วยว่า ในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่างๆ ซึ่งจ้างงานผู้รับเหมานั้น กลับพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเอกสารที่สแกนเพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของป.ป.ช. กลับหัวกลับหาง ไม่ครบถ้วน ถ่ายเอียงไปเอียงมา แสดงว่าคุณภาพการจ้างงานใช้ไม่ได้ จึงฝากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณในการจ้างงานของป.ป.ช.ด้วย