วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือไทย-จีน ส่งผลให้ “การส่งออกผลไม้ของไทย”มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต่างจากช่วงก่อนหน้าที่ประสบปัญหาจากมาตรการ Zero-Covid ที่มีการตรวจเข้มการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ ณ ด่านพรมแดนเข้าประเทศจีน จึงต้องใช้เวลานานมากกว่าจะผ่านด่าน เสี่ยงต่อการเน่าเสียของ “ผลไม้ไทย” ซึ่งขณะนี้ปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายแล้ว
ขณะเดียวกันการทำงานของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องการทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ การป้องกันการปนเปื้อนด้วยมาตรฐาน GMP Plus เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ผลไม้ไทย”เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดจีนอย่างมากโดยเฉพาะทุเรียนที่ปีนี้ส่งออกทำลายสถิติปี 2564 โดยฤดูกาลปี 65 ระหว่าง 1 ก.พ.-5 มิ.ย. 2565 มีปริมาณ ส่งออก 4.33 แสนตัน ในขณะที่ปี 2564 ทั้งปีมีปริมาณการส่งออก 4.25 แสนตัน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนความร่วมมือไทย-จีน ประกอบด้วย
1) การเพิ่มศักยภาพการตรวจปล่อยและขนส่งสินค้า
1.1 ขยายวันทำการของด่านทางบก 4 แห่งจาก 5 วันเป็น 7 วันและขยายเวลาทำการเป็น 10 ชั่วโมงต่อวัน
1.2 ท่าเรือชินโจในเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง เพิ่มความพร้อมในการรับเรือสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังจากเดิม 4 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น7 เที่ยว/สัปดาห์
1.3 เพิ่มการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนทางอากาศ
2) การหารือแนวทางจัดตั้ง Green Lane เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่ง “สินค้าเกษตร” จากไทยไปจีนผ่านพรมแดนทางบก
3) การเร่งรัดการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการตรวจผ่าน “ผลไม้ส่งออก”จากไทย ณ ด่านสถานีรถไฟต่าง ๆ ในจีน
4) การเพิ่มเส้นทางขนส่งสินค้าผลไม้จากไทยไปจีน โดยทางจีนอนุมัติสนามบินหนานหนิงอู๋ชวีเป็นด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าสินค้าผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า แม้ทางการจีนจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างมาก แต่มาตรการ Zero-Covid ยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงขอให้ผู้ส่งออกผลไม้ทุกชนิดปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP plus เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ เพราะหากมีการตรวจพบการปนเปื้อน สินค้าจะถูกทำลายหรือถูกระงับการส่งออกและด้วยในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูลำไย ทางกระทรวงฯ จึงได้เตรียมความพร้อมการส่งออกลำไยเพื่อให้ปลอดโรคเพลี้ยแป้งและ “การปนเปื้อนโควิด-19” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร สหกรณ์ ล้ง ผู้รวบรวมผลไม้ ผู้ส่งออก มาร่วมหารือ โดยวางแผนจะนำโมเดลที่ดำเนินการกับทุเรียนมาใช้