ก.เกษตรฯ โชว์ความงดงามของผ้าไหมไทยในงาน “เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย” ที่ จ.สกลนคร สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ประกวดเส้นไหม ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากหม่อน และส่งเสริมตลาดผ้าไหม ประจำปี 2565” ภายใต้งาน “เทิดไท้ 90 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย”
โดยการจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่กรมหม่อนไหมร่วมกับ 3 หน่วยงานประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ช่อง 9 อสมท. และสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 21 มิถุนายน 2565 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ริมฝั่งหนองหาร ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกรเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาและอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับประเทศไทย และส่งเสริมให้ผ้าไหมไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมการสาวไหมแบบพื้นบ้านของไทย ให้เยาวชนและเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ดีงามแบบดั้งเดิม รวมทั้งเชิดชูบุคคลที่ผลิตผลงานคุณภาพด้านหม่อนไหม สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการสืบสานพระราชปณิธาน และขยายผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนซึ่งประเทศไทยมีการทำอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นเวลานาน มากกว่า 100 ปี โดยอาชีพหม่อนไหมมีจุดเด่นในการเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี สามารถสร้างอาชีพในถิ่นที่อยู่ส่งผลให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว การที่ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดให้มีการประกวดและการแข่งขันผลผลิตหรือสินค้าด้านหม่อนไหม จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและเกิดการสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ส่งผลต่อการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยดึงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเงินรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระดับประเทศ จำนวน 1 ราย มอบใบรับรองร้านค้าจำหน่ายผ้าไหมไทยที่ได้มาตรฐาน จำนวน 4 ร้าน มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่เกษตรกรหม่อนไหม ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบด้านการทอผ้าไหม จำนวน 2 ราย ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 1 ราย
ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 5 ราย (ปราชญ์หม่อนไหม) ด้านการสืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญหาอาชีพปลูกหม่อนไหม (ทายาทหม่อนไหมโรงเรียน) จำนวน 6 ราย มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ครอบคลุม 18 อำเภอ ประมาณ1,301,747 ไร่ ให้แก่เกษตรกรจากอำเภอเต่างอย อำเภอภูพาน อำเภอเมือง อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก และอำเภอพรรณนานิคม พร้อมเยี่ยมชมงานและนิทรรศการภายในงาน
ด้าน นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้กำหนดให้มีการจัดนิทรรศการ การประกวด และการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 29 ประเภท ประกอบด้วย
1) การแข่งขันสาวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน 6 ประเภท รวม 54 ทีม
2) การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง 11 ประเภท รวม 291 ผืน
3) ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเงิน 1 ประเภท รวม 57 ผืน
4) ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน 9 ประเภท รวม 317 ผืน
5) ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเขียว 1 ประเภท รวม 24 ผืน
6) การประกวดสิ่งประดิษฐ์จากผ้าไหม ประเภท กระเป๋าสตรี 1 ประเภท รวม 32 ใบ
โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลที่ 1 ทุกประเภท จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และจะถูกนำไปจัดแสดงในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์จัดแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี