วันที่ 29 ตค 66 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนต่อเนื่อง ลงพื้นที่ อ.สังขละบุรี ร่วมกับ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานความมั่นคง กองกำลังทหาร ตำรวจ สนธิกำลังร่วมอายัด “ยางก้อน” 600 ตัน หลังตรวจสอบพบเอกสารบัญชียางยืนยันแหล่งที่มาไม่ชัดเจน หวั่นลักลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ต้องสงสัยว่ากระทำผิด พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลังร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสังขละบุรี เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการอายัดยางก้อนของผู้ประกอบการ อ.สังขละบุรี ซึ่งนำยางก้อนทั้งหมด 29 ตัน ไปส่งที่ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากสงสัยว่าจะเป็นยางพาราที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การอายัดในครั้งนี้ เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้รับเบาะแส ว่ามียางก้อนกำลังเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ โดยไม่ทราบแหล่งที่มา จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจจุดตรวจร่วมสามแยกทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ให้ทำการหยุดรถพ่วงขนยางก้อนดังกล่าว เพื่อขอให้แสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบค้ายาง แบบรายงานปริมาณการซื้อยาง การขายยาง ทราบว่าการขนย้ายดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบการแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าว ไม่สามารถแสดงเอกสารแหล่งที่มาตามฟอร์มบัญชียางได้ครบถ้วน เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร จึงได้สั่งยึดรถยนต์พ่วงดังกล่าวไว้ที่จุดตรวจร่วมทองผาภูมิ เพื่อรอเอกสารมาแสดงต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้เข้าตรวจบัญชียางที่ ผู้ประกอบการ ผลจากการตรวจสอบพบแบบรายงานปริมาณ ยางก้อน เดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2566 มีปริมาณ 200 ตัน (รวมทั้งที่อายัดรถพ่วงบรรทุกไว้ 29 ตันด้วย) และยางแผ่น มีปริมาณ 4 ตัน แต่พบปริมาณยางก้อน 600 ตัน ยางแผ่นประมาณ 6 ตัน พบว่ามีปริมาณแตกต่างกันถึง 400 ตันที่ไม่ยังทราบแหล่งที่มาชัดเจน จึงได้ทำการอายัดยางจำนวน 600 ตันดังกล่าวไว้
อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ จึงได้ให้ผู้ประกอบการนำเอกสารการซื้อยาง การขายยาง ตั้งแต่เดือน พ.ค-ก.ค. 2566 มาแสดงเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบปริมาณยางก้อน ยางแผ่น ว่าถูกต้องตรงกับที่อายัดไว้หรือไม่ หากไม่สามารถแสดงได้ ก็จะตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายชื่อเกษตรกรที่มาขายยางให้ และพื้นที่การปลูกยางพาราในพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณยางที่แท้จริง หากตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ยังพบว่าผู้ประกอบการ ไม่สามารถชี้แจงข้อมูลปริมาณยางก้อน และยางแผ่นได้ ย่อมสันนิษฐานได้ว่ามีการนำเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องสงสัยว่า กระทำผิด พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี ตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการลักลอบนำเข้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภค และผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งอำเภอสังขละบุรี มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยงานราชการจึงต้องออกมาเข้มงวด เพราะเกรงว่าอาจจะมีการลักลอบนำยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะนำมาสู่การทำลายกลไกราคายางพาราในประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะทำการขยายผล ตรวจสอบ สต๊อกยาง ทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้ราคายางมีเสถียรภาพ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคายางพาราในประเทศของเกษตรกรสูงขึ้น
อนึ่งในวันนี้ รมว เกษตรฯ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “จุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการ ปศุสัตว์ พืช ประมง” ณ ด่านศุลกากรสังขละบุรี แก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้า หรือส่งออกสินค้าด้านการเกษตรที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะยางพารา เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด สุดท้าย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวขอบคุณ รมว.เกษตร ว่าการลงพื้นที่แนวชายแดน ไทย-เมียนมาร์ ของท่านรัฐมนตรีในวันนี้ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ร่วมบูรณาการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะนำไปสู่ราคายางที่มีเสถียรภาพของไทย