15 มิ.ย. 65 เพจมหาวิทยาลัยมหิดล( Mahidol University) ได้โพสต์ว่า
8 ข้อแนะนำ “การใช้กัญชา” ม.มหิดล ห่วงใยความปลอดภัยประชาชนและสังคม
โดยแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุประเภทยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ไม่ระบุว่า “พืชกัญชา” รวมถึงส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ช่อดอก เป็นสารเสพติดให้โทษนั้น กัญชาเป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์หลายชนิด โดยเฉพาะสาร THC ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทําให้เกิดโทษรุนแรงได้
แต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกํากับดูแล “การใช้กัญชา”อย่างรัดกุม มหาวิทยาลัยมหิดล มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม จึงมีข้อแถลงการณ์และข้อเสนอแนะ ดังนี้
- ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก และเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี โดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อการพัฒนาการของสมองทั้งในแม่และเด็ก
- ไม่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย
- ไม่ใช้ “ช่อดอกกัญชา” เพื่อผสมในอาหาร และเครื่องดื่ม หากมีการผสมส่วนใดๆ ของ “กัญชา” ในอาหารและเครื่องดื่ม ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจน
- ผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ควรขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร ในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจิตประสาท โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด ขอให้ปรึกษากับแพทย์ ที่ให้การรักษาก่อนใช้กัญชาเสมอ เพราะอาจมีผลต่อยาและการรักษาที่ได้รับอยู่
- ผู้ปกครองและสถานศึกษา ควรดูแลให้เด็ก และเยาวชนห่างไกลจากกัญชา รวมถึงประชาชน ควรร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชา
- ขอให้ภาครัฐ และภาคสังคม มุ่งให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชา และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- ขอให้ภาครัฐ เร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีมาตรการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการติดตามดูแลการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนและสังคม
ผู้ที่ต้องการใช้ “กัญชา” ต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนเสมอ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งข้อมูลการได้รับกัญชาอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที
เมื่อวานนี้ ( 14 มิ.ย. 65 ) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือ ควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุขหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
โดยควันของพืชดังกล่าวข้างต้นจะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ
เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 (5) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565”
ข้อ 2 ในประกาศนี้ “กัญชา” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีสีเขียวอมเทา ใบเป็นแฉก เว้าลึกจนถึงโคนใบ ใบแต่ละแฉกยาวรี ขอบใบจักแบบฟันเลื่อย ดอกสีเขียว มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
“กัญชง” หมายความว่า ไม้ล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา แต่ลักษณะต้นสูงกว่า ใบเรียวยาวและสีอ่อนกว่า มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ข้อ 3 กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เว้นแต่พืชที่มีกฎหมายอื่นควบคุมแล้ว จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณ ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565
นายสาธิต ปิตุเตชะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข