รมช.ไชยา เล็งเห็นบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ศักยภาพเหมาะกับการทำปศุสัตว์ส่งออกต่างประเทศ

S 12615702
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ได้ตรวจสอบห้องเย็นทั้ง 19 แห่ง จาก 23 อำเภอ พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไม่พบการลักลอกขนเนื้อสัตว์เถื่อน ส่วนใหญ่เป็นเนื้อแซลมอนนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย เห็นได้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์มีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อ และโคมีชีวิตสำหรับส่งออก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำลังจะเปิดตลาดการค้าสัตว์มีชีวิตออกสู่ประเทศกัมพูชา รวมถึงส่งออกโคเนื้อ และสุกรมีชีวิตสู่ประเทศจีนและเวียดนาม เพื่อแก้ปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ และให้มีสินค้าราคาสมกับคุณภาพ จึงต้องขยายผลตรวจสอบตามแนวเขตชายแดนให้มากขึ้น เพื่อให้กลไกราคาสินค้าเกษตรกลับมาเป็นปกติ ตามนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเป็นลำดับแรก

S 12615705
รมช.ไชยา เล็งบุรีรัมย์เหมาะกับการทำปศุสัตว์ส่งออกต่างประเทศ

รมช.ไชยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง เนื่องจากหัวอาหาร (ข้าวโพดและถั่วเหลือง) ในประเทศไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้มอบแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนะนำเกษตรกรให้จัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ผลิตหัวอาหารเอง ปรับปรุงดินให้มีคุณภาพเหมาะสำหรับพืชที่จะเพาะปลูก จะช่วยให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

    

S 12615691
รมช.ไชยา เล็งบุรีรัมย์เหมาะกับการทำปศุสัตว์ส่งออกต่างประเทศ

“ยุครัฐบาลดิจิทัลควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละส่วนของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ให้สามารถใช้งานร่วมกัน เพื่อนำไปวิเคราะห์สินค้าและความต้องการของตลาดได้ เกษตรกรจะได้ผลิตสินค้าที่มีผู้ซื้อรองรับ ซึ่งช่วยให้สินค้าไม่ล้นตลาดและมีราคาที่เหมาะสม จึงอยากขอให้แต่ละหน่วยงานช่วยกันพัฒนาในส่วนนี้ร่วมกัน” รมช.ไชยา กล่าวเสริม

    

S 12615693
รมช.ไชยา เล็งบุรีรัมย์เหมาะกับการทำปศุสัตว์ส่งออกต่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยาได้กล่าวถึงนโยบายการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปาก สามารถหารายได้แบบไม่กังวล ซึ่งเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ ต้องมาแสดงตนรับสิทธิ์ เพื่อเข้าร่วมโครงการจัดการปัญหาหนี้ รวมถึงการหารายได้ เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้สร้างรายได้ เป็นแนวทางปลดหนี้ และเป็นเกษตรกรที่สามารถยืนได้ด้วยตนเองอีกด้วย