กยท. ฝากถึง ชาวสวนยางเสียหายจากน้ำท่วม ยื่นรับเงินเยียวยา รายละ 3,000 บาท พร้อมเร่งจัดสวัสดิการช่วยเหลือชาวสวนยางกรณีเสียชีวิตมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่

กยท. ฝากถึงชาวสวนยางในพื้นที่เกิดอุทกภัย สามารถยื่นขอสวัสดิการเยียวยาความเดือนร้อนกรณีสวนยางประสบภัย รายละ 3,000 บาท พร้อมเร่งจัดสรรสวัสดิการชาวสวนยาง มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เร่งผลักดันระเบียบ – หลักเกณฑ์เงินช่วยเหลือฯ กรณีเสียชีวิต

%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า นอกจากการดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยางพาราไทยให้เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืนแล้ว การลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของชาวสวนยางโดยการจัดสรรสวัสดิการภายใต้เงินกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ถือเป็นอีกภารกิจที่ กยท. มุ่งมั่นดำเนินการมาตลอด โดยคำนึงถึงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง เป็นสำคัญ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ กยท. เร่งร่างระเบียบสวัสดิการและหลักเกณฑ์ สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง กรณีเสียชีวิต โดยต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และเสนอให้คณะกรรมการ กยท. เห็นชอบโดยเร็ว ซึ่งจะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดที่เกษตรกรชาวสวนยางได้รับ ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการกำหนดและจัดสรรสวัสดิการฯ ให้แล้วเสร็จหากมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เสียชีวิต ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่าปลงศพ รายละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

นายณกรณ์ กล่าวถึงสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง กรณีสวนยางประสบภัย ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกหลายพื้นที่ในตอนนี้ ทำให้พื้นที่สวนยางบางส่วนได้รับความเสียหาย ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวสวนยางในพื้นที่ กยท. มีสวัสดิการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. กรณีสวนยางประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ กยท. จัดสรรให้ในกรณีสวนยางประสบภัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยแล้ง รวมถึงโรคและศัตรูพืชทุกชนิด จนทำให้ต้นยางเสียหาย (ตาย หักโค่น จนไม่สามารถเติบโตหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปได้) ในคราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นในแปลงเดียว โดยสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือต่อเจ้าหน้าที่ กยท. สาขาในพื้นที่ที่สวนยางนั้นตั้งอยู่ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประสบภัยหรือนับถัดจากวันที่ภัยพิบัติสิ้นสุดลง นอกจากนี้ กยท. มีเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนยาง ตามมาตรา 49(5) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีได้รับความเดือดร้อน ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีประสบภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 3 ปี

“กยท. เห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับความเป็นอยู่ของชาวสวนยาง ดังนั้น โดยการจัดสวัสดิการให้พี่น้องชาวสวนยาง ซึ่งเป็นเกษตรกรเพียงกลุ่มเดียวของไทยที่ได้รับสิทธินี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดย กยท. หวังว่าจะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องชาวสวนยางได้” นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย