กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่จังหวัดตาก ชู 5 โครงการสำคัญในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก และอำเภอแม่สอด หวังบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มความสามารถการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดตาก พร้อมรับฟังปัญหาและมอบถุงยังชีพ จำนวน 500 ถุง ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดตากมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการฯที่ได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 34 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก เพิ่มเติม 5 โครงการ ได้แก่
-โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม ต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก (ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2567 – 2570)
-โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ ต.เกาะตาเภา อ.บ้านตาก เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำไม่เพียงพอให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายเขื่อนภูมิพล (ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ.2568 – 2572)
-โครงการระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพล ไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา ต.สามเงา อ.สามเงา เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้กับพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ ตำบลน้ำรึม และตำบลตลุกกลางทุ่ง (อยู่ระหว่างขอตั้งงบประมาณสำรวจและออกแบบ)
-โครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำวัง ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านท่าไผ่ ปตร.บ้านคลองไม้แดง ปตร.บ้านวังโพ ปตร.บ้านยางโองน้ำ ปตร.บ้านปากวัง (มีแผนศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปีงบประมาณ 2567)
-โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยปะแล้ง ต.แม่ปะ อ.แม่สอด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ให้กับประชาชน ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ ตำบลแม่ปะ และตำบลแม่กาษา (แผนการก่อสร้างโครงการ พ.ศ.2569 – 2571)
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้สามารถใช้เก็บกักน้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง สร้างความมั่นคงทางน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต