กรมการข้าวขานรับนโยบายเร่งด่วน “รมว.ธรรมนัส” รุกขับเคลื่อนสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวเสริมรายได้ชาวนา ชูกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิคฟาร์มเมืองสุรินทร์เป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาการผลิตสุราแช่จากข้าวพื้นเมืองยกระดับสู่ไฮ แวลู ไทยแลนด์
นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวภายหลังเป็นประธานนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลดำเนินงานของกรมการข้าวด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ข้าวไทยในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2566 ว่า นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้ดำเนินการสนองนโยบายตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายเร่งด่วนในการเร่งขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรให้เป็นผลสำเร็จ
โดยเน้นยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกรด้วยการผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของกรมการข้าวที่ผ่านมาในการให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวโดยการหมัก (fermentation) เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าข้าวให้กับเกษตรกรไทย ทำให้เกิดการสร้างงานเป็นการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้า โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยด้านนวัตกรรมการแปรรูป เพื่อนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพตามมาตรฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิคฟาร์ม สุรินทร์ บ้านเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าวได้เข้าไปให้การส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุราแช่จากข้าวมะลินิลสุรินทร์ และข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิคฟาร์ม สุรินทร์ บ้านเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563
โดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สุราแช่พื้นเมืองจากข้าวมะลินิลสุรินทร์และข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ รวมทั้งเทคนิคการออกแบบและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ให้ความรู้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตระดับชุมชน ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแซตอมฯ อย่างครบวงจร ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์สร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ (ไฮ แวลู ไทยแลนด์) ที่ได้รับการยอมรับในตลาดภายในและตลาดต่างประเทศระดับหนึ่ง
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุราแช่พื้นเมืองจากข้าวมะลินิลสุรินทร์และข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบของสุราแช่พื้นเมือง บรรจุในบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการจำหน่าย และเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุราแช่พื้นเมืองสู่วิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิคฟาร์ม สุรินทร์ ซึ่งได้รับอนุญาตการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิต
ด้านนายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า เริ่มจากพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สุราแช่พื้นเมืองจากข้าวมะลินิลสุรินทร์และข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ ที่มีความปลอดภัยและได้คุณภาพตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สาโท มผช.๓/๒๕๔๖ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ โดยการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี ความปลอดภัยจากโลหะหนักและสารพิษ (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สาโท(มผช. 3/2546)ของกระทรวงอุตสาหกรรม)ไปจนถึงการทดสอบความชอบของผู้บริโภค
ด้วยวิธีการทดสอบความชอบ 9 points hedonic scale และคำนวณต้นทุนการผลิตเป็นจำนวนเงิน(บาท)ต่อหนึ่งชิ้นผลิตภัณฑ์ ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ผลทางสถิติและสรุปผล พร้อมจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบพร้อมบรรจุภัณฑ์ (prototype) เป็นขวดบรรจุภัณฑ์ขนาด 750 มิลลิลิตรต่อชิ้น จำนวน 1,000 ชิ้น หรือ 500 ชิ้น/ผลิตภัณฑ์ ฉลากไม่น้อยกว่า 5,000 ชิ้น รวมทั้งให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับ วัตถุดิบ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือสำหรับการผลิตเครื่องดื่มสุราแช่พื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายสุแทน สุขจิต วิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิคฟาร์ม จ.สุรินทร์ ขอบคุณกรมการข้าวที่ให้การสนับสนับและส่งเสริมทางด้านตลาดและให้องค์ความรู้สมัยใหม่ในการผลิตภัณฑ์สุราแช่พื้นเมืองให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล เช่น เทคนิคทำให้ไวน์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีอายุนานขึ้น เป็นต้น โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยยกระดับพัฒนาข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับนโยบายสุราก้าวหน้าของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการนำความคิดใหม่เข้ามาช่วยต่อยอดและสนับสนุนนวัตกรรมของท้องถิ่นไทย เพราะสินค้าของแซตอมทำโดยกลุ่มชาวนาที่ทำอาชีพเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว รายได้ไม่เพียงพอจึงต้องการแปรรูปข้าวด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถยืดอายุการรักษา พร้อมอนุรักษ์ภูมิปัญญา และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับการขายข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว
“ปัจจุบันสุราแช่จากข้าวมะลินิลสุรินทร์และข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ของวิสาหกิจชุมชนแซตอมได้รับความนิยมสูงมากจากตลาดท้องถิ่นและตลาดในประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งเดิมจะมีตลาดหลักในกลุ่มนักท่องเที่ยวและร้านจำหน่ายของที่ระลึกในท้องถิ่น
แต่หลังจากเกิดกระแสของนโยบายสุราก้าวหน้าทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น มีสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 3,500-4,000 ขวด
โดยการจำหน่ายหากเป็นไวน์ข้าวราคาขวดละ 350 บาท หากเป็นสาโทสดจำหน่ายขวดละ 85 บาท จากแนวโน้มการตลาดที่สดใสทางกลุ่มกำลังอยู่ระหว่างขยายโรงงานให้ใหญ่และได้มาตรฐานสากลขึ้น และเตรียมเปิดโรงงานใหม่ในปี 2567นี้ มีกำลังผลิตประมาณ 30,000ลิตร แต่ในช่วงปีแรกจะผลิตเพียง20,000ลิตร/ปีบรรจุได้ 20,000 ขวด/ปี ซึ่งแผนงานดังกล่าวทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ อาทิ ถังหมักไวน์ ถังบ่มไวน์ จากกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าวอีกด้วย” นายสุเทน กล่าว
สำหรับ“ชุมชนชาวแซตอม”ในอดีตนั้น มีอาชีพเกษตรกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของการเกษตรอินทรีย์
จนมาระยะหนึ่งมีการนำปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ในปัจจุบันพบว่า วิธีการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค “แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม” จึงเริ่มรื้อฟื้นวิธีการผลิตแบบอินทรีย์ดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนปัจจุบัน แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ได้พัฒนาการก่อตั้งจนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชน และมีการรวมกลุ่ม เกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ โดยเน้นไปที่ข้าวพื้นบ้าน ข้าวเพื่อสุขภาพ เป็นหลัก
ส่วนข้าวที่เหลือจากการขายได้ต่อยอดมาสู่การผลิตสุราแช่พื้นเมือง หรือในภาษาบ้านๆเรียกว่า“สาโท” เพื่อนำเสนอเสน่ห์ของข้าวพื้นเมืองในอีกมุมหนึ่งที่น่าลิ้มลองไม่แพ้กัน ซึ่งสาโทของวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิก ฟาร์ม สุรินทร์นี้ มาทั้งในรูปแบบของสาโทโบราณรสชาติหวานซ่าสดชื่น และฟิวชั่นสาโท ที่หยิบเอาเทคนิคการทำไวน์องุ่นมาประยุกต์เข้ากับการทำสาโทโบราณ นอกจากจะเก็บไว้ได้นานกว่าแล้วยังมีรสชาติหลากหลายที่ทำมาจากข้าวนานาสายพันธุ์ เช่น ระรื่น ทำจากข้าวเหนียวแดง จุติ ทำจากข้าวเหนียวดำ และ เดอะ แบล็ค จัสมิน ทำจากข้าวมะลินิลสุรินทร์