รมว.กษ. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าและ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ฟังบรรยายจากรองฯรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มีเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจจาก สองรัฐมนตรีเกษตร คือ การเลี้ยงผึ้งส่งนอก ซึ่งท่านรองได้รายงานว่า ยังมีผึ้งที่ยังส่งออกไม่ได้ในขณะนี้คือ ชันโรง ซึ่ง มกอช.ยังอยู่ในการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรผึ้งชันโรง
พอได้รับรายงานแบบนั้น ก็มีเสียงเรียกกันต่อ ๆ มาว่า ท่านเลขามกอช. อยู่ไหน ท่านรัฐมนตรีเรียกพบ ถึงตรงนี้หละครับ ที่ “ขุนพิเรนทร์” ต้องเดินไปฟัง ตามประสาคนอยากรู้ และท่านรัฐมนตรีฯได้กำชับ เลขามกอช. ให้ไปทำมาตรฐานให้เรียบร้อยโดยเร็ว
นั่นเป็นความสนใจแรกครับ ความสนใจต่อมา คือ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมและแนะนำเกษตรกรอย่างไร โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้ง ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง และชันโรง ข้อมูลจากประชาสัมพันธ์ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้กรุณาส่งมาให้น่าสนใจอย่างยิ่งครับ ปีนี้ในด้านมูลค่า จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม เราส่งออกน้ำผึ้งสามารถสร้างงานสร้างเงินได้มากกว่า 521 ล้านบาท
เรามาดูชนิดพันธุ์ที่มีการเลี้ยงในประเทศไทยกันครับว่ามีแบบไหนบ้างที่กำลังส่งเสริมกันในเวลานี้
ผึ้งพันธุ์ (Apis melifera) เป็นผึ้งที่นำเข้ามาจากยุโรป มีขนาดใหญ่กว่าผึ้งโพรง แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ขนาดลำตัวยาว 16 มิลลิเมตร ส่วนอกกว้าง 4 มิลลิเมตร มีจำนวนประชากรประมาณ 40,000-50,000 ตัวต่อรังมีนิสัยไม่ทิ้งรัง เลี้ยงในรังได้ ขนย้ายสะดวก และเก็บผลผลิตน้ำผึ้งได้ง่าย ให้ผลผลิตน้ำผึ้งเฉลี่ย 30-50 กิโลกรัม/รัง ราคาขายเฉลี่ย 110 บาท/กิโลกรัม
ผึ้งโพรง (Apis cerana) เป็นผึ้งพื้นเมืองของไทย ที่พบอยู่ตามธรรมชาติทั่วประเทศไทย มีจำนวนประชากรประมาณ 20,000-30,000 ตัวต่อรัง มีนิสัยทิ้งรัง หากพื้นที่ตั้งวางรังไม่มีอาหารหรือไม่มีดอกไม้บาน เกษตรกรสามารถล่อผึ้งโพรงตามธรรมชาติมาเลี้ยงในรังได้ ทำให้เก็บผลผลิตน้ำผึ้งได้ง่าย ให้ผลผลิตน้ำผึ้งเฉลี่ย 7-8 กิโลกรัม/รัง ราคาขายเฉลี่ย 400-500 บาท/กิโลกรัม
.
ชันโรง (Stingless bee) เป็นแมลงจำพวกผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน มีรัศมีหากินใกล้ รัศมี 300-500 เมตร มีพฤติกรรมชอบเก็บเกสรดอกไม้มากกว่าเก็บน้ำหวาน ให้ผลผลิตน้ำผึ้งเฉลี่ย 300-500 กรัม/รัง ราคาขายเฉลี่ย 1,500-2,000 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรส่วนใหญ่มักเลี้ยงไว้ช่วยผสมเกสร เนื่องจากชันโรงมีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ และผึ้งโพรง และมีนิสัยไม่เลือกตอมดอกไม้ ทำให้ผสมเกสรพืชได้ดีกว่ามาตรฐานเกี่ยวกับด้านผึ้ง
ในต่างประเทศมีกฎระเบียบและมาตรฐานอาหารต่างประเทศ (CODEX) มาตรฐานสำหรับน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการนำเข้าน้ำผึ้งในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผึ้งที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์
การกำหนดคุณภาพมาตรฐานของน้ำผึ้งชันโรงในต่างประเทศ จะมีในประเทศมาเลเซีย กัวเตมาลา เม็กซิโก และเวเนซุเอร่า
ในประเทศไทย ได้มีมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้ง (GAP ฟาร์มผึ้ง) และ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้งชันโรง (GAP ฟาร์มผึ้งชันโรง) ซึ่งเป็นมาตรฐานการเลี้ยง นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นน้ำผึ้งจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ส่วนมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้งชันโรง ขณะนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ น้ำผึ้ง ยังสามารถขอมาตรฐาน อย. มาตรฐานฮาลาล ได้อีกด้วย
การส่งออกน้ำผึ้งของไทย จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากร ปี 2566 (มกราคม – กรกฎาคม) ประเทศที่ส่งออก ได้แก่ ได้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย แคนาดา มาเลเซีย เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น ปริมาณการส่งออก 6,630,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 521,674,556 บาท