เปิดยอดตัวเลข ส.ป.ก.ส่งมอบเอกสารสิทธิที่ดินให้กับทายาทของเกษตรกรผู้เสียชีวิตไปแล้ว 40,000 รายจากยอดยื่นขอรับมรดกสิทธิจำนวน 50,000 ราย โดยเกษตรกรที่ได้รับเอกสารสิทธิส.ป.ก.ที่เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 200,000 ราย คาดที่เหลือทั้งหมดอีกจำนวน 150,000 ราย เข้าสู่กระบวนการยื่นขอรับมรดกสิทธิภายในปี 2567 ด้านเกษตรกร ปลื้มได้รับมรดกสิทธิที่ดิน
การดำเนินการของ ส.ป.ก.ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การตกทอดทางมรดกสิทธิ การเช่าหรือเช่าซื้อและการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. 2564 หรือที่เรียกกันว่า “ระเบียบคัดเลือกปี 2564” ได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนตกทอดมรดกของเกษตรกรที่เคยได้รับสิทธิในที่ดินจาก ส.ป.ก. โดยส.ป.ก.จะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปให้ทายาทของผู้เคยได้รับสิทธิ ซึ่งขณะนี้ผู้เสียชีวิตในเขตปฏิรูปที่ดินมีประมาณ 200,000 ราย เป็นที่มาของการที่ส.ป.ก.กำลังเร่งรัดให้ทายาทเกษตรกรมายื่นขอรับมรดกสิทธิในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งมีการกำหนดในระเบียบฯดังกล่าวว่า กรณีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเสียชีวิตต้องรีบดำเนินการโอนสิทธิโอนมรดกให้กับทายาทภายใน 1 ปี แต่ถ้าไม่เสร็จภายใน 1 ปี สามารถผ่อนปรนไปได้อีก 1 ปี ปรากฏว่าระเบียบออกปี 2564 ภายใน 1 ปี ก็คือ ปี 2565 และผ่อนปรนได้อีก 1 ปี ครบกำหนดกลางเดือนกรกฎาคมปี 2566 ต่อมามีการขอมติ คปก. ขยายไปอีก 1 ปี จนถึง 15 กรกฎาคม 2567 ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีคนรอยื่นคำขอเป็นจำนวนมาก
“ ส่วนกรณีเกษตรกรเสียชีวิตหลังระเบียบคัดเลือกปี 2564 ออกมาแล้ว ทายาทสามารถยื่นขอรับมรดกสิทธิได้ภายใน 2 ปีนับแต่เกษตรกรเจ้าของสิทธิเสียชีวิตลง ซึ่งขณะนี้ทายาทคนกลุ่มนี้หลังทราบข่าวเกี่ยวกับการเปิดให้ยื่นรับมรดกสิทธิ ก็ทยอยออกมายื่นขอรับมรดกสิทธิเช่นกัน ”
ส่วนที่ว่าการดำเนินการของ ส.ป.ก.ที่ผ่านมาสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ข้อมูลจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก) ระบุว่า เมื่อการเปิดให้ยื่นรับมรดกสิทธิเป็นข่าวออกไปทางทีวีและทางโซเชียล ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นจากเดิมที่อาจไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ เพราะว่าสิ่งที่ ส.ป.ก. สื่อสารไปทางสื่อมวลชน ทำให้เกษตรกรแห่กันมา หลายจังหวัด ส.ป.ก. ดูแลบริการเกษตรกรไม่ทันเพราะมากันเยอะมาก บางจังหวัดเกษตรกรมาแต่เช้ามืด บางจังหวัดก็มาตั้งแต่กลางคืนมานอนรอ ซึ่งเป็นการมายื่นคำขอโอนมรดกสิทธิซึ่งเป็นขั้นตอนการยื่นคำขอเท่านั้น ส่วนการโอนมรดกสิทธิจะเกิดขึ้นหลังการยื่นคำขอฯแล้วซึ่งใช้เวลาอีกระยะหนึ่งซึ่งเมื่อยื่นคำขอแล้ว ส.ป.ก. ก็จะออกประกาศว่ามีใครคัดค้านผู้ยื่นคำขอรายนั้นๆหรือไม่ ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปีในการยื่นคัดค้าน ถ้าครบกำหนด 1 ปี ไม่มีใครคัดค้าน ถ้าเป็นโอนทั้งหมดแปลงใหญ่ และไม่มีทายาทอื่นเลย มีทายาทเพียงคนเดียว ก็จะง่ายไม่ต้องรังวัดที่ดินใหม่ สามารถเปลี่ยนชื่อเอกสารสิทธิเป็นของทายาทคนปัจจุบันได้ แต่ถ้าเป็นกรณีทายาทหลายคน ก็ต้องมีการแบ่งแปลง ซอยเป็นแปลงย่อยตามสัดส่วนที่แต่ละคนจะได้รับ ซึ่งก็ต้องไปสู่ขั้นตอนรังวัดแบ่งแปลงใหม่ เช่นถ้ามีลูก 3 คน ก็ต้องแบ่ง 3 ส่วน เมื่อรังวัดเสร็จก็จะไปสู่ขั้นตอนการออก ส.ป.ก. 4-01 ใหม่ให้แก่ทายาทที่มายื่นคำขอและมีสิทธิได้รับ
“ ตอนนี้มีการยื่นคำขอรับมรดกสิทธิแล้ว 50,000 ราย จากทั้งหมดของเกษตรกรผู้เสียชีวิตประมาณ 200,000 รายทั้งก่อนและหลังระเบียบคัดเลือกปี 64 ออกมา และ ส.ป.ก. สามารถดำเนินการแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ให้กับผู้ยื่นคำขอซึ่งเป็นทายาทไปแล้วประมาณ 40,000 ราย ส่วนกรณีที่มีเกษตรกรบางรายแอบขายสิทธิ ส.ป.ก.ไปก่อนแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการสั่งสิ้นสิทธิ จากนั้น ส.ป.ก.จะนำที่ดินดังกล่าวมาจัดให้กับรายใหม่ต่อไป ”
จากข้อมูลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( ส.ป.ก. )ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนรับรู้มากขึ้นและปริมาณคนมายื่นคำขอมีเป็นจำนวนมากในช่วงที่จะสิ้นรอบปีที่สองของระเบียบคัดเลือกปี 64 และเมื่อ คปก. ขยายระยะเวลาออกไปถึง 15 กรกฎาคม 2567 ส.ป.ก. ได้ประชาสัมพันธ์ไปตามช่องทางต่าง ๆ ผ่านผู้ใหญ่บ้าน วิทยุชุมชน สื่อต่าง ๆ ทำให้ขณะนี้คนที่มารับบริการและไม่ได้รับความสะดวกเนื่องจากความล่าช้ามีจำนวนลดลง เพราะรู้ว่าทยอยมาก็ได้ไม่ต้องรีบมาพร้อมกันทีเดียว
อีกประการหนึ่ง ส.ป.ก. มีโมบายยูนิต ซึ่ง ส.ป.ก. จังหวัดทุกจังหวัดจะออกไปให้บริการในพื้นที่ ในแต่ละตำบลที่จะให้บริการได้ก็จะช่วยระบายการสะสมที่จะต้องให้เกษตรกรต้องมายื่นคำขอรับมรดกสิทธิที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดได้มาก
นอกจากนี้ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้เน้นย้ำว่า อย่าให้ประชาชนมารอคิวรับบริการมากเกินไปเพราะจะถูกมองว่า ส.ป.ก. ไม่สามารถให้ให้บริการประชาชนได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก.โดยตรง และเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าต้องใช้คนเพิ่มเท่าไหร่ ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ทำให้ขณะนี้ได้วิธีการที่ ส.ป.ก. จะขับเคลื่อนในปีหน้าคือปี 2567 โดย ส.ป.ก.จะมีหน่วยโมบายเป็นหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้าน และจะมีงบฯให้แต่ละจังหวัดไปจ้างคน จ้างนิติกรเพิ่มในการทำงาน ดังนั้นในส่วนเกษตรกรผู้เสียชีวิตที่เหลืออีกจำนวน 150,000 ราย จะเข้าสู่กระบวนการยื่นขอรับมรดกสิทธิได้ครบในปี 2567 ส่วนคนที่ไม่ยื่นขอรับมรดกสิทธิก็จะเข้าสู่กระบวนการยึดที่ดินคืน
และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญซึ่งประชาชนควรรู้เช่นกันได้แก่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ส่วนหนึ่งมาจากพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือให้มีที่ดินทำกินไปชั่วลูกชั่วหลานซึ่งสอดคล้องกับการโอนมรดกสิทธิไปให้ทายาท เมื่อ ส.ป.ก.จัดที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว เกษตรกรมีหน้าที่ตั้งใจทำกินในที่ดินนั้น ทำกินแล้วเมื่อเจ้าของสิทธิเสียชีวิต ก็จะโอนตกทอดไปให้ทายาทตามที่ระเบียบต่างๆที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันหลักใหญ่ของ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เจตนารมณ์ต้องการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพราะฉะนั้นการที่มีระเบียบคัดเลือกปี 64 ส่วนหนึ่งทำให้ ส.ป.ก.พบการใช้ที่ดินไม่ถูกวัตถุประสงค์ ส.ป.ก.คาดการณ์ว่าในจำนวน 200,000 ราย มีประมาณไม่เกิน 5 % ที่ใช้ที่ดินไม่ถูกวัตถุประสงค์แล้วไม่กล้ามายื่นขอรับมรดกสิทธิ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ ส.ป.ก. จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสิทธิแล้วยึดที่ดินคืนแล้วนำมาจัดใหม่
“ แต่ละปี ส.ป.ก. มีระบบตรวจสอบสแกนพื้นที่ในเรื่องการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ โดยใช้วิธีให้ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ให้การรับรองว่า ได้พบเห็นการทำผิดในพื้นที่ ส.ป.ก. หรือไม่ อีกส่วนหนึ่งใช้ดาวเทียมภาพถ่ายทางอากาศว่าถ้ามีการก่อสร้างหรือมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แทนที่จะเป็นทุ่งนาสีเขียว ต้นไม้สีเขียวกลับเป็นหลังคาตึก ก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเพื่อคุ้มครองอนุรักษ์ที่ดินพวกนี้ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องชั่วลูกหลานซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เป็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ในเรื่องของการคุ้มครองที่ดินเกษตรกรรม สำหรับ พื้นที่ของ ส.ป.ก.มักจะได้ยินคำว่า “ดินเลวน้ำแล้ง” แต่ ส.ป.ก. ก็มีงบประมาณที่จะไปปรับปรุงพื้นที่ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการพัฒนาอาชีพ มีการส่งเสริมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ซึ่งมีการลงทุนในพื้นที่ ทำให้พื้นที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส.ป.ก. จำเป็นต้องคุ้มครองพื้นที่เหล่านี้ไว้ ”
นอกจากนี้ ส.ป.ก .มีแนวคิดที่จะปรับปรุงในเรื่องของการอำนวยความสะดวกประชาชนเกี่ยวกับการยื่นขอรับมรดกสิทธิให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวคือ แม้ว่าปัจจุบันทายาทจะยื่นขอรับมรดกสิทธิทางออนไลน์ได้ แต่ก็ต้องเดินทางไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในจังหวัดที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่เพื่อทำการสอบสวนสิทธิ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก ของพ่อแม่ซึ่งเป็นเกษตรกรเสียชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงราย แต่ทายาทปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทายาทก็ต้องเดินทางไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงรายอยู่ดี ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเสียเวลามาก
แต่ต่อไปในอนาคตเมื่อทายาทยื่นขอรับมรดกสิทธิทางออนไลน์ สามารถดำเนินการสอบสวนสิทธิที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ ที่ทายาทอาศัยอยู่ได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก.ไว้ในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ขณะนี้ ส.ป.ก.กำลังพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมายและกฎระเบียบว่าเปิดช่องให้ทำได้หรือไม่ และต้องแก้กฎระเบียบอะไรบ้างหรือไม่ เพราะมิเช่นนั้นทำไปแล้วอาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้และรอความพร้อมในเรื่องของระบบออนไลน์ของ ส.ป.ก.ซึ่งต้องมีบิ๊กดาต้าในการจัดเก็บข้อมูลซึ่งปัจจุบัน ส.ป.ก. ยังไม่พร้อมเท่าที่ควร
จากการสอบถาม นายบรรญัติ สิงห์ลอ เกษตรกร หมู่ 4 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นทายาทเกษตรกรที่ไปยื่นขอรับมรดกสิทธิและได้เอกสารสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก จำนวนทั้งสิ้น 33 ไร่เศษ บอกว่า เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ให้บริการ และอธิบายดี และไม่ต้องเข้าคิวรอนานเพราะตอนที่ตนไปยื่นขอรับมรดกสิทธิคนน้อย แต่ต้องรอนานหน่อยกว่าจะได้เอกสารสิทธิ เข้าใจว่าตามขั้นตอนต้องตรวจสอบให้แน่นอนโดยกว่าจะได้เอกสารสิทธินับจากตนยื่นขอรับมรดกสิทธิเป็นเวลาเกือบ 2 ปี
“ ผมรับมรดกสิทธิต่อจากพ่อแม่ที่ ดินก็ตั้งอยู่ที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ไม่ไกลจากที่อยู่ในปัจจุบัน แต่ผมต้องไปยื่นขอรับมรดกสิทธิที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดพิษณุโลกซึ่งอยู่ไกลจากที่อยู่ผมประมาณ 60 กม. ก็ต้องไปหลายรอบ เพราะมีปัญหานามสกุลผมตัวอักษรบางตัวเขียนไม่ตรงกับนามสกุลพ่อแม่ก็ต้องแก้ไขให้ตรง แต่ได้ที่ดินมาก็โอเคแล้ว ตอนนี้ผมพยายามปรับปรุงพื้นที่ ลงทุนขุดสระ ที่ดินผมปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลัง ”