กรมปศุสัตว์ เดินหน้าผลิตพ่อโคเนื้อกรมปศุสัตว์ชั้นเยี่ยม    

กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ สร้างโคเนื้อพันธุ์ดีและกระจายพันธุ์โคเนื้อ โดยมุ่งเน้นตามความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์มีหน่วยงานด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อในแต่ละสายพันธุ์กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคเนื้อ และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ฯ เป็นต้น

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A8%E0%B8%B8%E0%B8%B8
กรมปศุสัตว์ เดินหน้าผลิตพ่อโคเนื้อกรมปศุสัตว์ชั้นเยี่ยม  

ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคเนื้อ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์โคเนื้อพันธุ์บราห์มันเทา บราห์มันแดง และโคพันธุ์ซาฮิวาล เพื่อขยายและกระจายพันธุ์โคเนื้อพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อทั่วไป 

นายสมพร โชคเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาโคเนื้อ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคเนื้อ มีภารกิจในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผลิตโคเนื้อทั้งระบบ และทดสอบพันธุ์โคเนื้อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละสายพันธุ์ พร้อมทั้งเป็นฐานการผลิตโคเนื้อของประเทศ ขยายและกระจายพันธุ์โคเนื้อไปสู่ส่วนราชการภายในกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยฯที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งนำไปรีดน้ำเชื้อเพื่อบริการให้กับเกษตรกร และอีกส่วนหนึ่งจำหน่ายให้กับเกษตรกรเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อทั่วไป โดยมีการเลี้ยงและการจัดการฝูงโคเนื้อ เริ่มตั้งแต่ช่วงระยะหย่านม หลังจากหย่านมโคเนื้อที่มีลักษณะดี มีน้ำหนักหย่านมสูง โคเนื้อเพศเมียจะถูกคัดเก็บทดแทนในฝูงปกติ ประมาณ 30% ส่วนโคเนื้อเพศผู้จะถูกคัดตัวที่ดีที่สุด ประมาณ 10% มาทดสอบสมรรถภาพเพื่อดูการเจริญเติบโต ซึ่งมีวิธีการเลี้ยงแบบปกติ ปล่อยแปลง และมีการเสริมอาหารข้น ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน แล้วแต่ฤดูกาล สำหรับโคทดสอบสมรรถภาพจะให้อาหารประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว เป็นอาหารหยาบประเภทหญ้าแห้ง และหญ้าหมักตามฤดูกาล

“โคเนื้อเพศผู้ที่ผ่านการทดสอบสมรรถภาพที่มีการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด มีลักษณะดี ตรงตามพันธุ์ มีลูกอัณฑะที่สมบูรณ์ มีข้อขาที่แข็งแรง มีเส้นหลังที่ตรง มีกล้ามเนื้อดีจะถูกคัดเลือกไปเลี้ยงดูต่อเพื่อผลิตพ่อโคเนื้อกรมปศุสัตว์ชั้นเยี่ยม โดยนำมาเลี้ยงดูเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโตทุกเดือน ดูเรื่องความสมบูรณ์พันธุ์ เช่น เส้นรอบวงลูกอัณทะ ความเชื่อง ความกำหนัด ความสามารถที่จะขึ้นทับโคเพศเมียที่เป็นสัด เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีต่อไป”

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคเนื้อ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ ยังมีการเตรียมความพร้อมโคเนื้อเพื่อส่งเข้าประกวด โดยนายสมพร โชคเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาโคเนื้อ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ลักษณะของโคเนื้อเพศผู้ ด้านหน้าจะต้องมีความเป็นเพศผู้ ลำตัวยาว เส้นหลังตรงขนานกับพื้นท้อง ลักษณะการยืนต้องยืนบนกีบ ไม่ยืนบนข้อเท้า กีบแข็งแรง ลำลึงค์ไม่หย่อนยานมาก เพราะจะส่งผลถึงลูก อีกทั้งลูกอัณฑะก็มีความสำคัญ ซึ่งโคที่มีลูกอัณฑะใหญ่กว่าจะแสดงความสามารถในการสร้างน้ำเชื้อได้ดีกว่า กล้ามเนื้อสะโพกต้องกว้างต้องลึก มัดกล้ามเนื้อต้องมาก มีความสมบูรณ์และเวลามองด้านข้างจะต้องมีความเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนโคเนื้อเพศเมีย ต้องมีลำตัวยาว ความจุของช่องท้องอยู่ในความลึกที่เหมาะสม เส้นหลังตรงขนานกับพื้นท้อง มีขาแข็งแรงทั้ง 4 ขา สะดือต้องไม่หย่อนยาน สะโพกมองเห็นถึงกล้ามเนื้อ ลึก กว้าง มองแล้วเหมือนตัวยูคว่ำ และอีกส่วนหนึ่งที่จะดูประกอบคือเวลาเดินจะต้องเดินเท้าหลังเหยียบเลยรอยเท้าหน้า ซึ่งการเดินบ่งบอกถึงความสามารถในการเดินแปลงหญ้า เวลาปล่อยแปลงหญ้าจะเดินได้ดี และกินอาหารได้ นี่คือลักษณะโคเนื้อชั้นเยี่ยมของกรมปศุสัตว์ 

พันธุ์โคเนื้อของกรมปศุสัตว์ มีพันธุกรรมชั้นเยี่ยม เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถกระจายพันธุกรรมไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บสยามรัฐ