นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เตือนเกษตรกรไทย อียูใช้ภาษี ‘CBAM’ ทำโทษข้าวโพดเผาตอซัง

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นธุรกิจของพ่อค้าผู้รวบรวมพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่ใช่ภารกิจของโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งกลุ่มพ่อค้าจะนำเข้าตามข้อตกลง AFTA หรือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2535 เป็นความตกลงการค้าที่ไม่มีภาษีและไม่มีโควต้าในระหว่างประเทศสมาชิก  โดยปัจจุบันไทยอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคมของทุกปี และไม่อนุญาตให้นำเข้าในช่วงเดือนกันยายน-มกราคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตในประเทศออกสู่ตลาด 

%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C
เตือนเกษตรกรไทย อียูใช้ภาษี ‘CBAM’ ทำโทษข้าวโพดเผาตอซัง

สำหรับปัญหาหมอกควันในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลกระทบเป็นฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือของไทยนั้น ไม่มีใครทราบว่า Hot Spot ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านนั้น เกิดจากไฟป่าหรือการเผาพืชชนิดใด แต่ก็ถือเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในสภาว่า “การเผาหลังเก็บเกี่ยวเป็นวัฒนธรรมทางการเกษตรที่เพื่อนบ้านทำมาตลอด การจะออกประกาศในเรื่องใดกับชาติใดเราต้องปฏิบัติกับชาติตัวเองเช่นนั้นด้วย เป็นเงื่อนไขบังคับอยู่ใน WTO และอาเซียน”  หมายความว่า การจะเรียกร้องให้ประเทศอื่นหยุดเผา ประเทศไทยเองก็ควรต้องหยุดเผาด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่ได้ห้ามเผาข้าวโพด เพียงแต่ขอความร่วมมือ และกำหนดระยะเวลาการเผาเป็นช่วง 

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรยุติการเผาในกระบวนการผลิตทั้งหมด ด้วยการวางมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice : GAP) ซึ่งจะได้ประโยชน์เชื่อมโยงไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตอาหารของประเทศด้วย ทั้งนี้ เพราะข้าวโพดเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศไทย ขณะที่คู่ค้าสำคัญคือสหภาพยุโรป (EU) เริ่มมีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนและการตัดไม้ทำลายป่าออกมา การจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP จึงจำเป็นมาก 

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงคือไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร หากสินค้าไทยปลดปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิตมากกว่าที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด จะถูกเก็บภาษี ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทันที เช่น อุตสาหกรรมไก่เนื้อที่ใช้ข้าวโพดเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารไก่ อาจถูกเรียกเก็บ C-BAM จนไม่สามารถทำธุรกิจในตลาดโลกได้อีก อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าหลายแสนล้านบาทของไทยย่อมได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมไปถึงทุกคนในห่วงโซ่การผลิตนี้ ตลอดจนเศรษฐกิจของชาติด้วย 

มาตรการสิ่งแวดล้อมสำหรับการค้าขายในตลาดโลก นับจากนี้จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐลงมือทำทันทีในการวางมาตรฐาน GAP ให้สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชไร่ทุกชนิดในประเทศไทย ก่อนที่จะสายเกินไป และขอให้วางยุทธศาสตร์การค้าของประเทศโดยพิจารณาทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะทำให้รัฐมองเห็นจุดที่จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงหลายจุด และนำไปสู่การลดความเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคการค้าของไทยในอนาคตได้ 

ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เพื่อเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอาหารของประเทศ รวมถึงแนวทางป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว