กรมชลประทานเร่งเก็บน้ำปลายฝน-เตรียมรับฤดูแล้ง

S 958537
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

วันที่ 11 ก.ย. 66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

S 958539
กรมชลประทานเร่งเก็บน้ำปลายฝน-เตรียมรับฤดูแล้ง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (11 ก.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 44,254 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,523 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ รวมกัน  จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศไปแล้ว 15,155 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของแผน  เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,865 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 107 ของแผน  ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศไปแล้ว 15.18 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ  89 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 3.74 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.52 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.53 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลัก(เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

S 958540
กรมชลประทานเร่งเก็บน้ำปลายฝน-เตรียมรับฤดูแล้ง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เอลนีโญที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มส่งผลยาวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 67 จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก อาจเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และด้านการเกษตรประเภทไม้ยืนต้นเท่านั้น จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และ 3 มาตรการรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติอย่างเคร่งครัด ในการนี้ กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดทำนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยกันเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

S 958541
กรมชลประทานเร่งเก็บน้ำปลายฝน-เตรียมรับฤดูแล้ง