เลขาธิการ ส.ป.ก. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข แจงที่มาการจัดที่ดินให้เกษตรกรเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ พ.ศ. ๒๕๖๔
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวถึงการจัดที่ดินให้เกษตรกร ว่า ที่ดินของ ส.ป.ก. แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) ที่ดินของรัฐ โดย ส.ป.ก. นำที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ที่ราชพัสดุ ที่รกร้างว่างเปล่า และที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน มาดำเนินการปฏิรูป และ 2) ที่ดินเอกชนซึ่งเป็นที่ดินที่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยกรมที่ดินแล้ว ซึ่ง ส.ป.ก. ได้รับพระราชทาน จัดซื้อหรือได้รับบริจาคมาเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เลขาธิการ ส.ป.ก. อธิบายต่อว่า เมื่อ ส.ป.ก. ได้รับที่ดินทั้ง 2 ประเภทมาแล้ว กฎหมายกำหนดให้ ส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ การจัดที่ดินให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเช่า เช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือการจัดให้บุคคลใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งการปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตเพื่อให้การผลิตและการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดผลดียิ่งขึ้นด้วย “
“ปัจจุบัน ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้กับเกษตรกรตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. ๒๕๖๔ “
จากนั้นเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ลงในรายละเอียดของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ พ.ศ.๒๕๖๔ ว่า ระเบียบดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 กรณี คือ 1) กรณีการจัดที่ดินรอบแรก จะมุ่งเน้นการจัดที่ดินให้แก่ผู้ถือครองที่ดินเดิมที่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรตามกฎหมาย เพื่อให้เกษตรกรดังกล่าวมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในในที่ดินโดยชอบตามกฎหมาย ส.ป.ก. โดยหากที่ดินที่เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินเดิมได้รับการจัดที่ดินนั้นเป็นที่ดินของรัฐ เกษตรกรจะได้รับสิทธิการเข้าทำประโยชน์ (ส.ป.ก. 4-01) แต่หากเป็นที่ดินที่ ส.ป.ก. จัดซื้อมา (ที่ดินเอกชน) เกษตรกรผู้เช่าที่ดินที่จัดซื้อ เกษตรกรผู้ยากจน หรือผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักจะได้รับการจัดที่ดินโดยการทำสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าซื้อที่ดินจาก ส.ป.ก.
2) กรณีการจัดที่ดินรอบใหม่ (รอบสอง ขึ้นไป) อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรณีการโอนสิทธิหรือสละสิทธิของเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินรอบแรก รวมทั้งในกรณีที่เกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินรอบแรกนั้นเสียชีวิตลง ซึ่งเกษตรกรดังกล่าวล้วนประกอบเกษตรกรรมในรูปแบบครอบครัวเกษตรกร กรณีนี้จะมุ่งเน้นการจัดที่ดินให้แก่คู่สมรส บุตร เครือญาติ หรือทายาทของเกษตรกรดังกล่าว โดยคู่สมรส บุตร เครือญาติ หรือทายาทนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรตามกฎหมาย และต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ในทรัพย์สินและหนี้สินที่เกษตรกรรายเดิมมีอยู่อันเนื่องมาจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินในกรณีนี้จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับเกษตรกรรายเดิมคือตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ส.ป.ก. 4-01 แล้วแต่กรณี
3) กรณีการจัดที่ดินแปลงว่าง อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรณีการจัดที่ดินรอบแรกที่ไม่มีผู้ถือครองที่ดินเดิมหรือผู้ถือครองที่ดินเดิมไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรถูกสั่งสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์เนื่องจากกระทำผิดระเบียบการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. หรือที่ดินที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบให้แก่ ส.ป.ก.
“ในกรณีการจัดที่ดินรอบใหม่หรือรอบสองขึ้นไป ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินรอบแรกนั้นไม่มีคู่สมรส บุตร เครือญาติ หรือทายาท หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรหรือไม่ประสงค์จะขอรับการจัดที่ดินต่อจากเกษตรกรรายดังกล่าว โดยในกรณีนี้จะมุ่งเน้นการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรซึ่งขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินไว้กับ ส.ป.ก. ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินจะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก.” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. ๒๕๖๔ ประกาศเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564 สมัยที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม