รมช.เกษตรฯ “ไชยา พรหมา” เตรียมลุยยกระดับหน่วยงานที่ดูแลเกษตรกรไทย ลั่น ความเป็นอยู่ของเกษตรกรต้องดีขึ้น

รมช.เกษตรฯ ไชยา พรหมา เผย เตรียมยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น เล็งยกเครื่องการทำงานด้านปศุสัตว์และข้าว

%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%B2 1
ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วันที่ 3 ก.ย.66 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยตกลง กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าตนเองกำกับดูแลกรมไหน และยังไม่ได้มีการแบ่งงานกันอย่างเป็นทางการ แต่ตนเองพร้อมทำหน้าที่ทันทีเพราะปัญหาเกษตรกรขนาดนี้มีมากมาย ไม่ว่าปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ภัยแล้ง และโรคระบาด ซึ่งตนเองเห็นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน อีกทั้งทางพรรคเพื่อไทย จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายพักหนี้เกษตรกร โดยจะพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทันที เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของเกษตรกร โดยจะทำควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี

%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%B2 2
เล็งยกเครื่องการทำงานด้านปศุสัตว์

โดยยึดด้วยหลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ด้วยการสร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ เปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้า ให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เบื้ยงต้นเตรียมปรึกษา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่องการทำงานคู่ขนานระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับทาง ธ.ก.ส.เรื่องการพักชำระหนี้ กับเสริมสร้างองค์ความรู้สู่เกษตรกรอีกด้วย ธ.ก.ส. ควรเป็นมากกว่าธนาคาร ไม่ใช่เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้อย่างเดียว และก็ไปตามเก็บหนี้ ตนอยากเห็น ธ.ก.ส. เป็นธนาคารที่สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรครบวงจร

%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2
เล็งยกเครื่องการทำงานด้านข้าว

นายไชยา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนเองมีแนวคิด พัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยแนวทาง “เอาน้ำไว้ในนา เอาป่าไว้ในบ้าน” ความหมายคือ เกษตรกรต้องมีน้ำไว้ทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นน้ำบนดินหรือน้ำใต้ดิน ภาวะน้ำแล้งต้องหมดไป การชลประทานต้องดีขึ้น ส่วนการเอาป่าไว้ในบ้าน ตนอยากส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือ พืชพลังงาน วันนี้มีการส่งเสริมพืชที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เป็นพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นยางนา ไม่ว่าจะเป็นไม้อะไรต่าง ๆ ที่มันมีมูลค่า ที่มีความต้องการของตลาดอีกด้วย

“ส่วนเรื่องการแบ่งกรมกันดูแล อยากเสนอให้มีการแบ่งหน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกัน อาทิ กรมปศุสัตว์ กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าว ซึ่งกรมเหล่านี้จะเป็นกรมคู่ขนานสามารถทำงานสอดรับกับนโยบายต่างๆ ได้ ซึ่งหากผมได้ดูแลจะยกระดับการทำงานในหน่วยงานที่ดูแล เช่น เรื่องของปศุสัตว์ วันนี้ความขาดแคลน แล้วก็การป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นวัว เป็นหมู วันนี้ก็ต้องหาวิธีการในการป้องกัน เพื่อที่จะให้มีความเพียงพอกับการบริโภคและการส่งออก ในเรื่องข้าว กระทรวงเกษตรฯ มีกรมการข้าว วันนี้เราเจอประเทศคู่แข่งที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีการทนน้ำ ทนแล้ง แล้วก็เป็นคู่แข่งในตลาดข้าวของเรา วันนี้ผมอยากจะเห็นงานวิชาการ การพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อที่จะหาข้าวใหม่ๆ และก็สามารถที่จะแข่งขันได้ แล้วก็ปลูกเพื่อทนกับสภาวะอากาศที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งต่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเกษตรกรเอง ถ้าเราทำสำเร็จ และถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลอีกด้วย” รมช.เกษตรฯ กล่าวทิ้งท้าย