นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ผลผลิตเกือบปริมาณร้อยละ 95 นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวการณ์เจริญเติบโตของภาคปศุสัตว์ ภาครัฐจึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าทำนาถึง 2 เท่า หรือประมาณ 450 – 500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ฤดูการผลิตจึงนิยมปลูกในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และยังเป็นพืชที่เพาะปลูกสั้น 100 – 110 วันเท่านั้น ทั้งนี้ เกษตรกรมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ฤดูฝน) ปลูกในช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในช่วง มิถุนายน – กุมภาพันธ์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม
สศท. 2 ได้ติดตามภาพรวมสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของทั้ง 6 จังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน พบว่า มีเนื้อที่ปลูกรวม 1,925,298 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 41.68 ของเนื้อที่ปลูกภาคเหนือ ลดลงจาก 1,939,011 ไร่ ของปีที่ผ่านมา (ลดลง 13,713 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.71) เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง และต้นทุนการผลิตยังคงมีราคาสูงจากราคาปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และยากำจัดศัตรูพืช เกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังโรงงานที่ใช้ปุ๋ยและการดูแลน้อยกว่า ผลผลิตรวม 1,313,305 ตัน ลดลงจาก 1,342,674 ตัน ของปีที่ผ่านมา (ลดลง 29,369 ตัน หรือ ร้อยละ 2.19) ผลผลิตเฉลี่ย 687 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจาก 694 กิโลกรัม/ไร่ ของปีที่ผ่านมา (ลดลง 9 กิโลกรัม/ไร่ หรือ ร้อยละ 0.94 เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 มีสัดส่วนการเพาะปลูกมากกว่า ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้ต้นข้าวโพดเจริญเติบโตและออกดอกติดฝักไม่ดี ซึ่งเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6 จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2566 มีจำนวน 62,237 ครัวเรือน
สำหรับแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.2 ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ ตาก น่าน และแพร่ ซึ่งตาก มีพื้นที่ปลูก 578,520 ไร่ ผลผลิต 402,806 ตัน น่าน มีพื้นที่ปลูก 564,562 ไร่ ผลผลิต 375,426 ตัน และแพร่ มีพื้นที่ปลูก 265,824 ไร่ ผลผลิต 185,656 ตัน ทั้งนี้ ในปี 2566 เกษตรกร 6 จังหวัด ได้ทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ฤดูฝน) โดยขณะนี้อยู่ในระยะเจริญเติบโตและออกช่อดอก ซึ่งผลผลิตจะออกตลาดมากที่สุดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 คิดเป็นร้อยละ 40.25 ของผลผลิตภาคเหนือ
ด้านราคาขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 ของ 6 จังหวัด (เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566) ราคาเฉลี่ย ณ ความชื้น 14.5% เฉลี่ยอยู่ที่ 10.96 บาท/กิโลกรัม ราคาเพิ่มขึ้นจาก 9.87 บาท/กิโลกรัม ของปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 1.09 บาท/กิโลกรัม หรือร้อยละ 11.04) เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 85 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมในพื้นที่ ผลผลิตร้อยละ 13 ส่งจำหน่ายสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรแม่สอด และสหกรณ์การเกษตรแม่ระมาด จังหวัดตาก สหกรณ์การเกษตรนาน้อย จังหวัดน่าน และสหกรณ์การเกษตรลอง จังหวัดแพร่ ผลผลิตร้อยละ 1.3 จำหน่ายผู้ประกอบการไซโลจังหวัดพิษณุโลก และผลผลิตร้อยละ 0.7 ขายให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปเลี้ยงโคเนื้อ
“ถึงแม้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชที่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและมีบทบาทสำคัญต่อภาคปศุสัตว์ แต่ปัจจุบันปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากการขยายตัวของการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เรื่องคุณภาพของผลผลิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น ขอฝากเรื่องการดูแลรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ การป้องกันและเฝ้าระวังโรคหนอนกระทู้ลายจุด หรือโรคอุบัติใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการและขายได้ในราคาสูงหากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ 6 จังหวัดภาคเหนือ สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวทิ้งท้าย