สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โครงการ “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer (Developing Thai Farmer to Smart Farmer)” ที่มี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย โดยได้ถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงจากการวิจัยและพัฒนา การชักนำรากลอย (reborn root ecosystem) และนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม(basin fertigation; BF)ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่นำนวัตกรรม RRE โดยมีเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ นายเมธา กสินุรักษ์ และ นายพัลลภ เฉลิมพนาพันธุ์ให้การต้อนรับ ณ จีนสวน คาเฟ่ทุเรียน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมามีการผลิตทุเรียนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งไม่ได้พึ่งพาสารเคมีเกษตรทำไมมีผลผลิตที่ดีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ประสบปัญหารากเน่าโคนเน่า ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป ใบร่วงทั้งต้นและยืนต้นตายเหมือนในปัจจุบัน จากข้อสังเกตและปัญหาดังกล่าวนำไปสู่แนวทางการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากในการผลิตทุเรียนของไทยที่ได้เริ่มนำเคมีเกษตรเข้ามาเพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ให้สามารถผลิตได้คุณภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ ให้ใช้สารเคมีที่ถูกต้องเหมาะสมและไม่เข้าใจผิดในการพึ่งพาสารเคมีเกษตรมากเกินไปจนเป็นปัญหาต่อผู้บริโภคของประเทศคู่ค้า อีกทั้งมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ให้สามารถแข่งขันและยืนเป็นหนึ่งในตลาดได้อย่างยั่งยืน
“เป็นโจทย์วิจัยที่ทางทีมวิจัยโครงการท้าทายไทย โครงการพัฒนาเกษตรไทยสู่ Smart farmer (กรณีศึกษา: การพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก) ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยจาก วช.(ปีงบประมาณ 2562) ร่วมกับ รศ.ดร. สุเพชร จิรขจรกุล, รศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งขัยกุล, ผศ.ดร.เรวัตร ใจสุทธิ, ผศ.ดร. พฤกษ์ ชุติมานุกูล และ นายปิยพงษ์ สอนแก้ว พร้อมกับนักศึกษาปริญญาโทนายธนวัฒน์ โชติวรรณ ร่วมวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์และปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น จนได้นวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย (Reborn Root Biome) และได้ถ่ายทอด เทคโนโลยีสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย”
ศ.ดร.วรภัทร กล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อำเภอเบตง มีต้นทุเรียนต้นเก่าแก่อายุหลายสิบปีและต้นที่ปลูกใหม่ หลายสวนที่ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในพื้นที่ได้มาอบรมการผลิตคุณภาพสูง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้นำไปปฏิบัติได้ผลสำเร็จ สามารถฟื้นต้นทุเรียนจากรากเน่าโคนเน่า และต้นโทรม ทั้งต้นเล็กและต้นอายุหลายสิบปี ช่วยประหยัดปุ๋ย และสารเคมีเกษตร ได้อย่างมาก ทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม มีคุณภาพที่ดี ได้ทุเรียนคุณภาพ (Prime Durian) จากต้นทุเรียนที่โทรมใบเล็ก ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป บางแปลงมีโรครากเน่าโคนเน่า สามารถฟื้นต้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ กิ่งแต่ละกิ่งสามารถแตกยอดได้สามครั้งในหนึ่งปี จากระบบนิเวศของรากที่พึ่งพา (symbiosis) กับจุลินทรีย์ช่วยตรึงธาตุอาหาร เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรจากเดิมเหลือแค่ไม่เกินราคาฟางแห้งก้อนเดียว พร้อมกันนี้ได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำกับต้นทุเรียนจากเดิมที่ให้น้ำตอนกลางคืนมาเป็นแบบ Basin Fertigation
“โดยแบ่งการให้น้ำออกเป็นสามช่วงในแต่ละวัน ช่วงเช้าก่อน 08.00 น. ให้น้ำเต็มความสามารถอุ้มน้ำของดิน (full soil capacity) พืชสามารถดึงน้ำและธาตุหลักและธาตุรองเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ โดยไม่เกิดแสดงการขาดธาตุที่จำเป็น ช่วงที่สองเวลา 11.00-12.00 น. เป็นเวลาที่ทุเรียนและไม้ผลทั่วไปที่ปลูกในแปลงแบบไม่ยกร่องสวน มักหยุดการสังเคราะห์แสงและเป็นช่วงที่น้ำในระบบน้ำใต้ดินและระบบน้ำในแถบลุ่มน้ำมีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดในช่วงวัน จึงมีการให้น้ำช่วงนี้ตามน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ เป็นช่วงที่ทำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัวออกมา ช่วงที่สามเวลา 13.00 น. และ 14.00 น. ช่วงนี้ในพื้นที่ปลูกแบบไม่ยกร่องสวนทุเรียนจะปิดปากใบเช่นกัน จึงทำการให้น้ำตามค่า vapor pressure deficit (VPD) ประมาณ 10-15 นาที จนทรงพุ่มมีค่า VPD ที่เหมาะสมและเริ่มสังเคราะห์แสง ต่อไปจนแสงสุดท้ายประมาณ 16.00 น. โดยภาพรวมทำให้ทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้นาน 6 – 8 ชั่วโมง (อาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่) พบว่าทุเรียนหมอนทองที่อายุ 120 หลังผสมเกสรแล้ว (หางแย้) มีน้ำหนักแห้งของเนื้อ (DM) เฉลี่ยร้อยละ 34 และเมื่ออายุ 140 วัน มีค่า DM เฉลี่ยร้อยละ 37 ปกติเก็บเกี่ยวที่ 150-160 วัน เนื้อทุเรียนหมอนทองและพันธุ์อื่น ๆ เนื้อแห้ง ไม่เป็นไส้ซึม เต่าเผา เนื้อที่เหนียวเนียนละเอียดเป็นครีมคล้ายชีทเค้ก เนื้อมีกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัว เส้นใยละลายน้ำได้ทั้งหมด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จจากงานวิจัยการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงเป็นทุเรียนที่สร้างอัตลักษณ์เฉพาะของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย สู่การผลิตเพื่อการส่งออกได้อย่างแท้จริง”
ด้านนายเมธา กสินุรักษ์ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนจีนสวนคาเฟ่ทุเรียน เปิดเผยว่า ทุเรียนเบตงเป็นทุเรียนที่ไม่เหมือนที่อื่น โดยเฉพาะ ทุเรียนเบญจพรรณ และทุเรียนสายพันธุ์อื่น ๆ งานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตทุเรียน ซึ่งที่จีนสวน คาเฟ่ทุเรียนของเรานั้น เราตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางของตลาดกลางในการแลกเปลี่ยนทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
ขณะที่นายพัลลภ เฉลิมพนาพันธุ์ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ อ.เบตง กล่าวว่า เดิมทีพิ้นที่แห่งนี้เป็นสวนยางเก่ามาก่อน แต่หลังจากที่ได้เข้ารับการอบรมกับโครงการวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดความสนใจในการหันกลับมาปลูกทุเรียนในพื้นที่ของตนเอง โดยใช้วิธีแบบอินทรียวัตถุ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้วิธีการชักนำรากลอยจากความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรครากและโคนเน่าในทุเรียนทำให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น