การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. ให้การต้อนรับสมาคมผู้ค้ายางแห่งประเทศญี่ปุ่น (The Rubber trade Association of Japan : RTAJ) ที่มีความต้องการซื้อยาง และสนใจการจัดการข้อมูลยางไทยรองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดสินค้าได้ โดย กยท. ได้นำคณะศึกษาดูงานด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค. 66 พร้อมเยี่ยมชมสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ที่มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปยางพาราเพื่อส่งออก เป็นโอกาสในการแสดงความพร้อม สร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นให้คู่ค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าและใช้ยางรายสำคัญของโลก ควบคู่ไปกับการขยายโอกาสทางการค้าของสินค้ายางพาราไทย
นายณกรณ์ กล่าวว่า กยท. ได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานตามมาตรการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลผลิต พร้อมเข้าตลาด EU ตามกฎหมาย EUDR โดย กยท. ได้ดำเนินการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ประมาณ 1.47 ล้านคน รวมพื้นที่แปลงสวนยางทั้งหมดประมาณ 20 ล้านไร่ และข้อมูลสถาบันเกษตรกรจำนวน 1,106 แห่ง ซึ่งมีจำนวนสมาชิกรวม 334,765 คน รวมถึงข้อมูลผู้ประกอบกิจการด้านยาง 533 ราย เช่น ข้อมูลเฉพาะตัวบุคคล ข้อมูลสวนยาง (ขนาด/ที่ตั้ง) พันธุ์ยาง และข้อมูลปริมาณผลผลิตยางเป็นต้น โดย กยท. ได้นำข้อมูลของกรมป่าไม้ และ Global Forest Watch มาช่วยในการตรวจจับพิกัดแปลงสวนยางที่ละเมิดเขตป่าสงวน เพื่อให้ให้สอดคล้องกับกฎหมาย EUDR นอกจากนี้ กยท.ได้จัดทำระบบข้อมูลทะเบียนของสมาชิกที่เข้ามาซื้อขายยางผ่านตลาดกลาง กยท. ได้แก่ รหัสประจำตัวผู้ซื้อและผู้ขาย ประเภท น้ำหนัก และราคายางทุกคำสั่งซื้อ เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนไปถึงแหล่งที่มาของยางได้
“ด้วยความพร้อมของ กยท. ในการจัดการระบบข้อมูลรองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ยาง และศักยภาพของผู้เกี่ยวข้องที่มีความพร้อมในการปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพาราให้เกิดความยั่งยืน จะยิ่งขยายโอกาส เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับยางพาราไทยในตลาดโลกได้” นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย