วันนี้(18 เม.ย. 65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (18 เม.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 45,368 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 21,430 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 21,137 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 95 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,613 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 3,917 ล้าน ลบ.ม. และมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,840 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 102 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันออกของภาคเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมทั้งจะมีฝนตกหนักและฟ้าผ่าเกิดได้ โดยยังมีคงมีผลกระทบถึงวันที่ 18 เม.ย.65 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุม ให้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมรับมือปริมาณฝนที่อาจจะตกหนักในบางพื้นที่ และลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย พร้อมกันนี้ได้ให้สำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องจักร-เครื่องมือต่างๆ ให้กับบุคลากรของหน่วยงานในทุกพื้นที่ ให้สามารถบำรุงรักษาและใช้งานเครื่องจักร-เครื่องมือได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งหมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ แม่น้ำสายหลักต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง