รองปลัดเกษตรฯ ชูต้นแบบสวนทวีทรัพย์ ผลิตทุเรียนคุณภาพตามแนวทาง BCG Model หนุนต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร (ทุเรียน กาแฟ และมังคุด) โดยมีนายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธราพงษ์ มีมุสิทธิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
โดยเยี่ยมชมสวนทวีทรัพย์ ซึ่งมีการบริหารจัดการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบเกษตรอุตสาหกรรม ตามแนวทาง BCG Model ของนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 2566 สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
รองปลัดเกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นยกระดับควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยเพื่อให้ได้คุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จนทำให้ประสบความสำเร็จ และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่บูรณาการความร่วมมือกันเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ขอฝากว่ายังคงต้องคุมเข้มในการตรวจควบคุมคุณภาพทุเรียนให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อขับเคลื่อนทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐาน
รองปลัดเกษตรฯ ยังได้กล่าวชื่นชมสวนทุเรียนของนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี2566 ที่ประสบความสําเร็จในการบริหารจัดการผลิตทุเรียน ทั้งการแปรรูปทุเรียนแช่เยือกแข็ง และทุเรียนฟรีซดราย นอกจากนั้นยังนําผลไม้ชนิดอื่นๆ ในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงมาแปรรูป เช่น มะม่วงฟรีซดราย มังคุดฟรีซดราย สับปะรดฟรีซดราย และเงาะไส้สับปะรดฟรีซดราย และมีการตลาดแบบครบวงจร
โดยสวนฯ ผลิตทุเรียนในพื้นที่ 250 ไร่ พร้อมทั้งมีการจัดทำวงจรการบริหารจัดการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP หรือ Premium Durian Cycle : PDC ในรอบ 1 ปี ทำให้ง่ายต่อการวางแผน และบริหารจัดการผลิต และบริหารจัดการสวนแบบเกษตรอุตสาหกรรม ตามแนวทาง BCG MODEL ใช้นวัตกรรมการห่อผลทุเรียนโดยใช้กระดาษห่อผลไม้สีขาวที่ฆ่าเชื้อ เคลือบผิวมัน ด้านนอกระบายน้ําและอากาศได้ มาห่อผลทุเรียน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงศัตรูทุเรียนได้ ทําให้ลดการใช้สารกําจัดศัตรูพืชปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในสวนและผู้บริโภค อีกทั้งยังได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรเป็นอย่างดี
จากนั้นลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของล้งทุเรียนบริษัทอาเฮียฟรุต อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรพร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ในปี 2566 จ.ชุมพร มีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียน 279,254 ไร่ ผลผลิต 271,470 ตัน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 25,109 ราย ขณะที่สถานการณ์ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ ปี 2566 มีผลผลิตในฤดู 540,967 ตัน(มิ.ย. – ต.ค.66) ในส่วนราคารับซื้อขณะนี้ราคาทุเรียนเริ่มลงแล้วแต่ยังคงอยู่ในราคาสูง ปัจจุบัน AB อยู่ที่145-170 บาท/กก. ตกไซต์ 90 บาท/กก. โดยที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ 210 บาท/กก.