กฟก. อนุมัติซื้อหนี้ช่วย”เกษตรกร” 87 รายวงเงิน 100 ล้านบาท-ขึ้นบัญชีรับการช่วยเหลือเพิ่มอีก 1,516 ราย วงเงิน 1,258 ล้านบาท

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม“คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Join Zoom Meeting) มีคณะกรรมการ กฟก. คณะผู้บริหาร และพนักงานร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้นายจุรินทร์ ประธานกรรมการ กฟก. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้มีสาระสำคัญ 3 เรื่อง โดยที่ประชุมมีมติ

1.มอบหมายให้คณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ดำเนินการจัดการหนี้ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้“เกษตรกร”ที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้ จำนวน 1,516 ราย 3,690 บัญชี มูลหนี้รวมทั้งสิ้น 1,258,380,172.18 บาท

2.เห็นชอบรายชื่อเกษตรกรที่ เป็นหนี้ NPA (เพิ่มเติม) และอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้ “เกษตรกร” ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555 จำนวน 14 ราย 14 บัญชี เป็นเงิน 43,434,272.12 บาท

S 2859036
อนุมัติซื้อหนี้ช่วยเกษตรกร

3.อนุมัติกรอบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 หมวดงบเพื่อการจัดการหนี้ของเกษตรกรเพิ่มเติม จากบัญชี “กองทุนการจัดการหนี้ของเกษตรกร” เป็นเงิน 100 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้แทนให้เกษตรกรที่เป็นหนี้เร่งด่วนในชั้นบังคับคดีขายทอดตลาดที่เจ้าหนี้ไม่ยินยอมงดการขายทอดตลาด

เงินจำนวนนี้ หากใกล้สิ้นปีงบประมาณแล้วยังมีเงินคงเหลืออยู่ให้นำไปชำระหนี้แก่เกษตรกรที่เป็นหนี้ในชั้นบังคับคดีขายทอดตลาดให้แล้วเสร็จตามจำนวนเงินที่เหลืออยู่ซึ่งคณะกรรมการได้รับทราบปัญหาดีว่ามีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องหนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เงินงบประมาณที่กองทุนฟื้นฟูฯ มีอยู่จำกัด หากมีแนวทางใดที่ช่วยเหลือได้คณกรรมการยินดีพิจารณาให้เพื่อประโยชน์กับเกษตรกร

รายงานข่าวแจ้งว่าที่ประชุมมีวาระเพื่อทราบ จำนวน 3 วาระ ได้แก่ รายงานแผนการดำเนินงานตามค่าใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งทุกรายการที่มีการดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ การรายงานเรื่องโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง และรายงานเรื่องคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อขอบรรจุในงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ต่อไป

ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ได้มอบหมายให้กรรมการหนี้ไปเจรจาลดหนี้เพิ่มเติมกับสถาบันที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อให้กองทุนฯ สามารถชำระหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ที่ร้อยละ 70 ได้ จากเดิมที่สถาบันที่เป็นเจ้าหนี้ขายหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 90 ซึ่งหากสามารถเจรจาสำเร็จจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับกองทุน

อีกทั้งเป็นการลดเงินที่เกษตรกรจะต้องชำระให้กองทุนได้อีกทาง ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ตกเป็นของเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมขอให้นำผลการเจรจาเข้ารายงานในการประชุมครั้งหน้าด้วย