นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยด้านการเกษตร เมื่อได้เป็นรัฐบาลจะทำทันที จากสมการทางการเมืองในเวลานี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ล้วนเป็นส่วนประกอบของรัฐบาลทั้งสิ้น
#นโยบายด้านการเกษตรพรรคเพื่อไทย ระบุไว้อย่างชัดเจนดังนี้
ปัจจุบันประชากรกว่า 40% อยู่ในภาคเกษตร แต่มีรายได้เพียงประมาณ 8% ของ GDP เป็นผลลัพธ์จากการเแก้ปัญหาในภาคเกษตรไม่ถูกจุด จึงทำให้เกษตรกรไทยอยู่ในวงเวียนวัฏจักรของความยากจน ดังนั้นการเกษตรจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการเสียใหม่ ด้วยหลักคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” คือ ผลิตสิ่งที่ตลาดมีความต้องการ มิใช่เพียงเพราะถนัดคุ้นเคย
#นโยบายเพิ่มรายได้เกษตร
รายได้ของเกษตกรจะเพิ่มเป็น “3 เท่าภายในปี 2570” จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี เพราะทั้งราคา และผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ เมื่อเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายรับ จึงทำให้รายได้เหลือไม่พอต่อการชำระหนี้ และการยังชีพอย่างมีคุณภาพ พรรคเพื่อไทยจะสร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต รายได้ (สุทธิ) ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 3 เท่าของที่เคยได้รับ
#พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอกทันที เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปีด้วยหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
-สร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ เปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้เกษตร
-ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต
-ใช้นวัตกรรม Blockchain เพื่อประกันราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรด้วยการให้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรควรได้รับ
การผ่าตัดภาคเกษตรเริ่มที่การ “เพิ่มอุปสงค์และปรับอุปทานภาคการเกษตร” นำนวัตกรรมมาสนับสนุน การเพิ่มผลิตภาพ การลดต้นทุน การแปรรูปสู่มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแนวทาง 6 ประการ คือ
1.ดินนำน้ำดี
2.มีสายพันธุ์
3.ยืนยันราคา
4.จัดหาแหล่งทุน
5.หนุนนำนวัตกรรม
6.จัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน
แนวทางการปฏิบัติของพืชเกษตรหลัก บางชนิดมีดังนี้
–ข้าว ปรับเปลี่ยนนาหว่านสู่นาดำ / นาหยอด งดเผางดนำฟางออกจากแปลง ใช้จุลินทรีย์คุณภาพสูงเพื่อรักษาธาตุอาหารให้หมุนเวียน ลดต้นทุนค่าปุ๋ย เพิ่มผลผลิตต่อไร่
-ยางพารา ปรับสูตรและเปลี่ยนวิธีใส่ปุ๋ยเสียใหม่ รักษาโรคเชื้อราที่ต้นยาง และฟื้นฟูต้นยางตายนึ่ง (กรีดแล้วไม่มีน้ำยาง) ให้กลับมากรีดได้อีก
–มันสำปะหลัง ป้องกัน และรักษาโรคเชื้อราที่รากและหัวมันฯ ที่อยู่ในดิน และรักษาฟื้นฟูใบ ที่ถูกคุกคามด้วยโรคไวรัสใบด่าง ทั้งสองโรคทำให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยทั้งประเทศสูญหายไปกว่าครึ่ง
–ลำไย ปรับคุณภาพดินให้มีความพร้อมกับการเจริญเติบโตของต้นลำไย สนับสนุนด้วยชีวภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มทั้งจำนวน ทั้งสัดส่วนของผลลำไยเกรดเอ
–ข้าวโพดและถั่วเหลือง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การให้ปุ๋ยที่เหมาะสม ผสมผสานระหว่างปุ๋ยอนินทรีย์ และอินทรีย์ การพัฒนาอุปกรณ์เก็บเกี่ยวที่เพิ่มความสะดวก และลดการสูญเสีย ฯลฯ
–เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมีทางเลือกใหม่ๆ และมีขนาดของความต้องการสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ มากขึ้น เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง และคาร์โบไฮเดรตสูง ในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งสามารถทดแทนการนำเข้ามูลค่าปีละกว่า 300,000 ล้านบาท เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และหญ้าเลี้ยงสัตว์
–ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อนำไปสู่การแปรรูป และการสกัดสารสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์สูง และมีมูลค่าสูง
–ส่งเสริมการเลี้ยงโค จากปริมาณความต้องการจากต่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกปีละกว่า 1 ล้านตัว และประเทศในแถบตะวันออกกลางปีละประมาณ 3 ล้านตัว และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งปศุสัตว์อื่นได้แก่ แพะ แกะ ไก่งวง ฯลฯ และประมงน้ำจืดด้วย ซึ่งย่อมสร้างรายได้ต่อเนื่องไปยังเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เป็นวงกว้าง
–ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต จนสามารถเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมเป็นการเกษตรก้าวหน้า
จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า หรือว่าแค่กลยุทธ์การหาเสียง ไม่นานเกินรอ