การสำรวจและวิจัย “วาฬบรูด้า” บริเวณน่านน้ำเกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน กลายเป็นงานหลักของ “เฉินโม่” นักวิจัยผู้ช่วย และผู้นำทีมวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา
แต่ละปี”เฉิน”จะใช้เวลาเกือบ 100 วัน อยู่บนเกาะเหวยโจว ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของอ่าวเป่ยปู้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 25 ตารางกิโลเมตร และถือเป็นเกาะภูเขาไฟอายุน้อยที่สุดของจีน รวมถึงออกทะเลอีกกว่า 200 ครั้ง เพื่อบันทึกภาพและคลิปวิดีโอจำนวนมากของวาฬชนิดนี้
กลุ่มหน่วยงานวิทยาศาตร์ของจีน ได้แก่ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี มหาวิทยาลัยอ่าวเป่ยปู้ และสถาบันชลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เริ่มต้นการวิจัยเกี่ยวกับฝูงวาฬบรูด้าในน่านน้ำเกาะเหวยโจวเมื่อปี 2016 โดยเฉินและทีมงานได้จัดตั้งฐานการวิจัยบนเกาะแห่งนี้ด้วย
“ช่วงปี 2016-2018 เราพบวาฬบรูด้าฝูงนี้มีสมาชิกอยู่ราว 10 ตัวเท่านั้น แต่ตอนนี้จำนวนวาฬในฝูงดังกล่าวใกล้แตะ 50 ตัวแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” เฉินกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการสำรวจพบแม่และลูกวาฬบรูด้า รวมถึงพฤติกรรมผสมพันธุ์ของวาฬบรูด้าโตเต็มวัยในน่านน้ำเกาะเหวยโจวด้วย
ขณะที่น่านน้ำ “อ่าวไทย” อันห่างไกลจากอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีมากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่พรั่งพร้อมด้วยระบบนิเวศสภาพดีและแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่ต่างกัน ก็พบเจอฝูงวาฬบรูด้าอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดความร่วมมือจีน-ไทย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยและคุ้มครองวาฬชนิดนี้ร่วมกัน
เฉิน เล่าว่า ทีมวิจัยวาฬบรูด้าในอ่าวไทย สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย เดินทางมากว่างซีเมื่อเดือนเมษายน 2019 เพื่อร่วมสำรวจน่านน้ำเกาะเหวยโจวนาน 7 วัน จากนั้นทีมวิจัยของจีนก็เดินทางสู่อ่าวไทยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพื่อทำการสำรวจแบบเดียวกัน จนนำไปสู่การกำหนดข้อตกลงสำรวจวาฬบรูด้าร่วมกันทุก 2 ปี
ทั้งนี้ ทีมวิจัยของจีนและไทยได้แลกเปลี่ยนและร่วมมือด้านเทคนิคและวิธีการสำรวจวาฬบรูด้า รวมถึงวิธีการวิจัยและประมวลผลข้อมูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลชนิดอื่นๆ ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายร่วมยืนยันหลังดำเนินการจำแนกลักษณะว่า ฝูงวาฬบรูด้าในอ่าวเป่ยปู้และอ่าวไทย ไม่ใช่วาฬกลุ่มเดียวกัน
พัชราภรณ์ เยาวสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยประมงประจำกรมฯ กล่าวว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก การแลกเปลี่ยนระหว่างสองฝ่ายจะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ศึกษาวิจัยได้อย่างคุ้มค่า เช่น วิธีสร้างพื้นที่คุ้มครองหรือแนวทางการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
“ทีมผู้เชี่ยวชาญของจีนแบ่งปันความรู้และข้อมูลผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยให้กระบวนการสังเกตการณ์สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีการและแนวทางจากทีมวิจัยของจีนนั้นควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ รวมถึงนำมาประยุกต์ใช้ในไทยอย่างมาก” พัชราภรณ์กล่าว
ทั้งนี้ วาฬบรูด้าจัดเป็นสัตว์คุ้มครองระดับสูงสุดของจีน ส่วนที่ไทยห้ามค้าวาฬบรูด้าทุกรูปแบบ การอนุรักษ์วาฬชนิดนี้กลายเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญระหว่างนักวิจัยของจีนและไทย โดยเฉินกล่าวว่าวาฬเป็นสัตว์ทะเลที่อพยพย้ายถิ่นตามแหล่งอาหาร การปกป้องแหล่งอาหารของพวกมันจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อความอยู่รอด
เมืองเป่ยไห่ของกว่างซีออก “ข้อบังคับการปกป้องสิ่งแวดล้อมเกาะเหวยโจวของเมืองเป่ยไห่” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 เพื่อส่งเสริมการปกป้องเกาะเหวยโจวและน่านน้ำโดยรอบ โดยข้อบังคับข้างต้นห้ามใช้กล่องโฟมแบบใช้แล้วทิ้ง และถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ รวมถึงห้ามทำการประมงในน่านน้ำรัศมี 6 กิโลเมตรจากชายฝั่งเกาะเหวยโจวและเกาะเสียหยาง
ด้านทีมนักวิจัยของไทยเดินหน้าวิจัยสิ่งมีชีวิตหายากในทะเลและยกระดับการวิจัยการกำจัดขยะในทะเลเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางทะเลของอ่าวไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยพัชราภรณ์ชี้ว่าการคุ้มครองวาฬบรูด้ายังครอบคลุมการปกป้องทรัพยากรทางทะเลอื่นๆ ด้วย
แม้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้การสำรวจและสังเกตการณ์ภาคสนามของทีมนักวิจัยจีน-ไทยต้องหยุดชะงักชั่วคราว แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าติดต่อสื่อสารทางออนไลน์ โดยมีการแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น วิธีช่วยชีวิตวาฬเกยตื้นหรือวิธีรักษาบาดแผลบนตัววาฬ เป็นต้น
“วาฬบรูด้าถือเป็นสิ่งมีชีวิตล้ำค่าของโลก มิใช่เฉพาะไทย จีน หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง” พัชราภรณ์กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่าการคุ้มครองวาฬบรูด้าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงามและยั่งยืนยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จากสำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai) / สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี