อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งการปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงที่ประสบอุทกภัย ย้ำเฝ้าระวังต่อเนื่องตามที่กอนช. แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังใน 16 จังหวัดระหว่าง 12-18 ส.ค. นี้ ส่วนที่สำนักงานปศุสัตว์น่านเข้าสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมเบื้องต้นในอำเภอท่าวังผา มอบเวชภัณฑ์สัตว์และเตรียมจุดอพยพสัตว์เนื่องจากอาจมีฝนตกลงมาเพิ่มทำได้ระดับน้ำสูงขึ้นอีก
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัด/ปศุสัตว์อำเภอติดตามสถานการณ์ฝนและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่า จะมีฝนตกลงมาเพิ่มระหว่างวันที่ 12-18 ส.ค. นี้ โดยจะตกหนักถึงหนักมาบางแห่ง โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพนันและน้ำป่าไหลหลาก 16 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ระยอง จันทบุรี ตรา ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล และตรัง
ทั้งนี้ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือ เฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือทันที โดยหากเกิดภัยให้แจ้งไปยังศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) และหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อลงพื้นที่ สำรวจและติดตามสถานการณ์พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงทันที ทั้งด้านเสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์ แต่งตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมออกปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเน้นย้ำเสบียงอาหารสัตว์ให้มีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
สำหรับจังหวัดที่มีรายงานน้ำท่วมอยู่แล้วตามรายงานของกอนช. ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษได้แก่ จังหวัดตาก น่าน อำนาจเจริญ นครพนม อุดรธานี และอุบลราชธานี โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม กอนช. แจ้งว่าระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
ล่าสุดได้รับรายงานจากนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดน่านว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก และลำน้ำน่านล้นตลิ่ง เพื่อสำรวจความเสียหายเบื้องต้นและมอบเวชภัณฑ์สัตว์ช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบในเบื้องต้นแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ณ หมู่ที่ 5 บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา พร้อมให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นได้อกี พร้อมเตือนภัยเกษตรกรให้ทราบ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปรับปรุงทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ให้เป็นปัจจุบัน วางแผนร่วมกับพื้นที่จัดตั้งจุดอพยพสัตว์ใกล้บ้าน พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที เมื่อเกิดภัยฯ ผ่านอาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ อปท. ปศุสัตว์อำเภอ และปศุสัตว์จังหวัดตามที่กรมปศุสัตว์ได้สั่งการในเตรียมรับมืออุทกภัยไว้แล้วต่อไป
ปัจจุบันมีเสบียงอาหารสัตว์หญ้าแห้งที่ได้รับการจัดสรรในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 5 มีจำนวนทั้งสิ้น 507,440 กิโลกรัม นำไปใช้แล้ว จำนวน 196, 360 กิโลกรัม คงเหลือ 311,080 กิโลกรัม
อธิบดีกรมปศุสัตว์กำชับให้ทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้รายงานผลสรุปสถานการณ์ประจำวันในไลน์กลุ่ม DLD disaster จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ พื้นที่จังหวัดใดมีสถานการณ์น้ำท่วม และหน่วยงานได้ดำเนินการช่วยเหลือฯ พื้นที่ใดที่ต้องการขอสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์เพิ่มเติม นอกเหนือจากโควตาที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว ให้ประสานกับศูนย์วิจัยฯ ที่รับผิดชอบพื้นที่
ทั้งนี้เกษตรกรที่ประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว สามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลาจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-6534553, 02-6534444 ต่อ 3315 หรือ อีเมล์ [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง