กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยกสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด ต้นแบบสหกรณ์แม่ข่าย เป็นศูนย์กลางให้บริการสมาชิก เกษตรกร และสหกรณ์พื้นที่ใกล้เคียง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสหกรณ์แม่ข่ายในโครงการปรับโครงการสร้างการผลิตฯ ใช้ประโยชน์อุปกรณ์การตลาดต่อยอดพัฒนาศักยภาพการรวบรวมแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างงานสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ดำเนินโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร” มาตั้งแต่ ปี 63 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างบทบาทของสหกรณ์ภาคการเกษตร ให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรในระดับพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญของชุมชนในการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปในการประกอบอาชีพ โดยกรมฯ ดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนให้สหกรณ์นำไปจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและจัดหาเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร ซึ่งรัฐอุดหนุนงบประมาณไม่เกินร้อยละ 90 และให้สหกรณ์จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
“ในปี 66 กรมฯ แบ่งระดับสหกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับแม่ข่าย โดยขับเคลื่อนสหกรณ์ระดับแม่ข่าย 24 สหกรณ์ ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้รับอุปกรณ์การตลาดรวม 79 รายการ มูลค่า 1,150 ล้านบาท ซึ่งเน้นให้บริการสมาชิกของตนเอง สหกรณ์ลูกข่าย/เครือข่ายในพื้นที่ในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเกษตรกรทั่วไปในลักษณะสหกรณ์แม่ข่าย ต่อยอด ผลักดัน และพัฒนาให้มีศักยภาพในการรวบรวม แปรรูปผลผลิต หรือเป็นศูนย์กลางในพื้นที่จังหวัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตร” นายวิศิษฐ์ กล่าว
สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จ.พิษณุโลก ต้นแบบสหกรณ์แม่ข่ายที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด 4 รายการ ได้แก่ ไซโลเป่าลมเย็น ลานตาก รถไถเดินตาม และรถแทรกเตอร์ รวมมูลค่า 40.76 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์มีความพร้อมมีศักยภาพในการรวบรวม แปรรูปผลผลิตของสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้ครอบคลุมทั่วถึง สหกรณ์มีการบริหารจัดการอุปกรณ์ฯ อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการบริการสมาชิกเป็นอันดับแรก รวมทั้งมีการเชื่อมโยงเครือข่ายของสหกรณ์ ทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ในพื้นที่ใกล้เคียง และให้บริการอบลดความชื้นกับสหกรณ์ใกล้เคียง ทั้งนี้ ยังมีแผนงานความร่วมมือกับบริษัทเอกชนในพื้นที่ในการใช้วัตถุดิบข้าวเปลือกผลิตอาหารสัตว์ และจะขยายการรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์ใกล้เคียงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทเอกชนด้วย นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ สามารถเป็นศูนย์กลางสำคัญขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐสู่การปฏิบัติในพื้นที่ และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดอบรมให้ความรู้กับสมาชิก ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ด้วย
นายวิศิษฐ์ ยังกล่าวต่อว่า สหกรณ์ระดับแม่ข่ายจะเป็นแม่ทัพสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีการผลิต 2566 ในภาพรวมสถาบันเกษตรกรสามารถเป็นจุดรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปได้มากกว่า 6.273 ล้านตัน มูลค่ารวม 70,972 ล้านบาท ต่อจากนี้กรมฯ ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับอย่างเต็มศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกสหกรณ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่า ตอบสนองความต้องการของตลาด เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทยให้มั่นคงต่อไป