นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับทราบสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง และเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการประกันภัยมันสำปะหลัง และความก้าวหน้าการจัดทำคู่มือบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง จำนวน 3,000 เล่ม แล้วจึงจัดสรรให้กับเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง มุ่งเน้นการใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดทนทานโรค และการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อชดเชยผลผลิตที่ลดลงจากการระบาดของโรคใบด่าง โดยมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง ดังนี้ 1) การจัดหาแหล่งพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด
เพื่อเตรียมสำหรับฤดูการปลูกถัดไป 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกแหล่งพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด ตามประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ประกอบด้วย 1) พื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่ที่ห่างจากพื้นที่ระบาดหรือเคยพบการระบาดของโรคใบด่างมากกว่า 10 กิโลเมตร สำรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ สัปดาห์ที่ 4 และ 2 สัปดาห์ ก่อนเก็บทำพันธุ์ 2) พื้นที่สีเหลือง คือ พื้นที่ที่ห่างจากพื้นที่ระบาดหรือเคยพบการระบาดของโรคใบด่างตั้งแต่ 3 – 10 กิโลเมตร สำรวจอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ สัปดาห์ที่ 4, 2 และ 1 สัปดาห์ ก่อนเก็บทำพันธุ์ และ 3) พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ที่ห่างจากพื้นที่ระบาดหรือเคยพบการระบาดของโรคใบด่างไม่เกิน 3 กิโลเมตร ไม่ควรนำท่อนพันธุ์บริเวณนี้มาทำพันธุ์ เพื่อทบทวนเกณฑ์การคัดเลือกแหล่งพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดสำหรับการจัดทำเนื้อหาคู่มือการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับหลักวิชาการและสถานการณ์ปัจจุบัน ต่อไป