มกอช. ปิดดีลเงื่อนไขส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่นได้ข้อสรุปไม่ต้องอบไอน้ำ

17097501 1454328984587082 8697032804451045819 o
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช.

วันที่ 7 ส.ค.66 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เผยความสำเร็จในการเจรจากับญี่ปุ่น ปิดดีลเงื่อนไขการส่งออกมังคุดไทยไปญี่ปุ่นโดยไม่ต้องอบไอน้ำ มั่นใจลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ส่งออกไทย และแจ้งข่าวดีต่อญี่ปุ่นที่สามารถส่งออกส้มมาไทยด้วยมาตรการใหม่ ซึ่งเป็นการบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการอำนวยความสะดวกทางค้า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ครั้งที่ 13 ณ ประเทศญี่ปุ่น

780b0dcf5221556e742a4c32997a540aef31ffafacfbdd23fbd038da9f8768d1
มกอช. ปิดดีลเงื่อนไขส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่น

จากความสัมพันธ์อันยาวนาน ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ได้มีการประชุมร่วมกัน ครั้งที่ 13 ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย มกอช. กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่น จากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (MHLW) กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (MOFA) และสำนักงานกิจการผู้บริโภค (CAA)

%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94S 82329699
มังคุดไทย

ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งข่าวดีว่าได้ออกประกาศเงื่อนไขอนุญาตนำเข้ามังคุดไทยโดยไม่ต้องอบไอน้ำกำจัดแมลงวันผลไม้ลงใน Official Gazette วันที่ 7 สิงหาคม 2566 พร้อมแจ้งกำหนดการเดินทางมาตรวจรับรองก่อนการส่งออกครั้งแรกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม อันจะทำให้ไทยสามารถส่งออกมังคุดสดด้วยวิธีการใหม่ที่ไม่ต้องผ่านการอบไอน้ำไปญี่ปุ่นได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและส่งออกมังคุดของไทยแล้ว ยังช่วยคงความสดใหม่และไม่สร้างความเสียหายให้กับผลมังคุดสด และช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษาของมังคุดให้ยาวนานขึ้น อีกทั้งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าตลาดส่งออกให้กับมังคุดสดของไทย ประมาณปีละ 200 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้านบาท ซึ่งความสำเร็จในการเจรจาเพื่อให้ญี่ปุ่นมั่นใจในระบบบริหารจัดการและควบคุมแมลงวันผลไม้ของไทย

จนกระทั่งยอมรับมาตรการสำหรับส่งออกมังคุดของไทยนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตรที่กำกับดูแลการส่งออกสินค้าพืช และ มกอช. ที่ได้หารือและดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ผ่านกลไกการเจรจาที่สำคัญทั้งภายใต้กรอบความร่วมมือ JTEPA และกลไกการหารือทางเทคนิคของเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือและผลักดันการเปิดตลาดและแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรอื่นร่วมกัน อาทิ การเปิดตลาดส้มโอไทย การเปิดตลาดข้าวกล้องญี่ปุ่น มาตรการทางเลือกในการส่งออกส้มสดญี่ปุ่นมายังไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยเช่นเดียวกันที่ได้ยอมรับมาตรการทางเลือกสําหรับส่งออกผลส้มญี่ปุ่นมายังไทยที่เจรจาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและยกระดับความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร อันนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

ผลมังคุดสดที่จะส่งออกไปยังญี่ปุ่นจะต้องมาจากสวนที่ปลูกเพื่อการค้าและได้รับขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ผู้ผลิตมังคุดต้องมีการจัดการสวนและการเก็บเกี่ยวมังคุดผลสดตามมาตรฐานการผลิตเพื่อการค้าสำหรับการส่งออกไปญี่ปุ่น มีสุขอนามัยในสวนที่ดีมีการจัดการศัตรูพืชอย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องยื่นขอรับการตรวจรับรองสวนเพื่อการส่งออกไปญี่ปุ่นและผ่านอบรมการส่งออกมังคุดผลสดภายใต้มาตรการทางเลือกใหม่จากกรมวิชาการเกษตร

สำหรับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ จะต้องแจ้งความประสงค์ไปยังกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอเข้าร่วมการส่งออกพร้อมยื่นรายชื่อสวนมังคุดที่จะส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้มาตรการใหม่ และขอรับการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุกับกรมวิชาการเกษตร โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02 940 6670 ต่อ 142