บอร์ดเกลือลงพื้นที่นาเกลือภาคตะวันออก ส่งเสริมชาวสวนผลไม้ใช้ขี้แดดนาเกลือ แก้ปัญหาปุ๋ยแพง จับมือศูนย์ AIC เร่งแปรรูปสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกลือทะเล พร้อมมอบ GAP นาเกลือรายแรกของจันทบุรี
นาย อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เปิดเผยว่า วันนี้ภายหลังประชุมคณะกรรมการเกลือทะเลไทย โดยมีนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตรนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรีว่า
ที่ประชุมบอร์ดเกลือรับทราบ (1) แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกลือทะเลไทย โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีพบว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าใหม่ และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเกลือทะเล อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตดอกเกลือและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นผลิตภัณฑ์ขัดหน้า ขัดผิว แช่ผิว แช่เท้า และสบู่ เป็นต้น รวมทั้งสร้างแบรนด์ให้กลุ่มเกษตรกรและผลิตภัณฑ์จากเกลือทะเลเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาเกลือ
(2) การนำเสนองานวิจัย นวัตกรรม การดำเนินกิจกรรมทางเกลือทะเลไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC จังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานผลการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล ได้แก่ การสร้างรายได้เสริมให้กับชาวนาเกลือ การส่งเสริมการทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ขี้แดดนาเกลือและแนวทางการส่งเสริมการตลาด การจัดการคนและข้อมูล การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบเกลือในภาคตะวันออก การบริหารจัดการเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านเกษตรอินทรีย์ การใช้ประโยชน์ของขี้แดดนาเกลือ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการ
(3) ผลการดำเนินกิจกรรมการทำนาเกลือทะเลภายในจังหวัดจันทบุรี และการใช้ผลผลิตเกลือทะเลในการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร (ไม้ผล) โดย เกษตรจังหวัดจันทบุรี รายงานว่าจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่อยู่ในตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรชาวนาเกลือได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วทั้งหมดจำนวน 9 ราย พื้นที่ 229 ไร่ ปริมาณเกลือทะเลที่ผลิตได้เฉลี่ยประมาณ 2,589 ตัน/ปี สร้างมูลค่าได้ปีละ9.98 ล้านบาท
โดยผลผลิตเกลือทะเลที่ได้นำไปใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายให้กับกลุ่มต่างๆได้แก่ ผู้บริโภคทั่วไป ผู้แปรรูป เกษตรกรผู้ทำนากุ้ง เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้เลี้ยงปศุสัตว์สำหรับผสมอาหารสัตว์
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติ และตรวจประเมินความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ทางเกลือทะเล ให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือทะเล จำนวน 10 ราย ส่งผลให้มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) เป็นรายแรกของจังหวัดจันทบุรี
พร้อมกันนี้ นายอลงกรณ์ ได้มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) รายแรกของจังหวัดจันทบุรี คือ นางสาวจันทร์เพ็ญ มากพงษ์ ด้วย
ภายหลังการประชุม นายอลงกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคีและเกษตรกร ครั้งที่ 2/2565 ณ แปลงนาเกลือทะเลของนางสาวจันทร์เพ็ญ มากพงษ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 22/2 ซอยป่าแดง – ยายม่อม ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่มีพื้นที่จำนวน 40 ไร่ มีปริมาณผลผลิตเกลือ 73 ตัน/ปี ซึ่งได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) เป็นรายแรกของจังหวัดจันทบุรี
และตรวจเยี่ยมแปลงไม้ผลของนายสมชาย ธัญพืช ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าใหม่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้มีการใช้ผลผลิตจากเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล คือ ขี้แดดนาเกลือ นำไปปรับสภาพดินและเพิ่มคุณภาพรสชาติของผลไม้ให้ดียิ่งขึ้น เช่น มังคุด มีการใส่ขี้แดดนาเกลือเพื่อลดอาการยางไหลและเนื้อแก้วในผลมังคุด พร้อมกันนี้ ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับฟังปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปัญหากับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ซึ่งในการตรวจเยี่ยมฯครั้งนี้
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า บอร์ดเกลือเร่งส่งเสริมการแปรรูปสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกลือทะเล และสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนไม้ผลนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือคือขี้แดดนาเกลือมาใช้ปรับสภาพดินให้ร่วนซุยและเพิ่มความหวานให้กับผลไม้ในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาปุ๋ยแพงในปัจจุบัน
รวมทั้งเร่งขยายผลการรับรองนาเกลือ GAP เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตพร้อมกันนั้นยังส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดแหล่งพื้นที่นาเกลือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย