เกษตรฯแนะชาวสวนมะม่วง ผลิตสินค้าคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ชูต้นแบบ”ลำพูนมหานครแห่งมะม่วง” พร้อมเชิญชวนผู้บริโภคภายในประเทศ ร่วมกันสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีผู้นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศทั้งในลักษณะผลดิบ ผลสุก และผลิตภัณฑ์แปรรูป ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของไทยนั้นเหมาะสมเอื้อสำหรับการเพาะปลูกมะม่วงได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้มะม่วงเป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจที่ถูกกำหนดไว้ในแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570 ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยมีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลซึ่งมะม่วงเป็นพืชที่มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมากที่สุดโดยปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง200,830 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 913,788.60 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 433,474.66 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 1 ล้านตัน เฉลี่ย 2,082 กิโลกรัมต่อไร่ โดยในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตมะม่วงมีอัตราการขยายตัวของพื้นที่และผลผลิตมะม่วงเพิ่มขึ้น
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด จัดกิจกรรมเชิญชวนบริโภคมะม่วงภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมคม-มิถุนายนของทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประชาชนให้การตอบรับและอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงด้วยดีเสมอมา
เช่น ที่จังหวัดลำพูน ได้จัดแคมเปญ “ลำพูนมหานครแห่งมะม่วง” ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ผู้บริโภคสนับสนุนผลผลิตจากพี่น้องเกษตรกร แนะนำมะม่วงที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภค อาทิ
มะม่วงเขียวมรกต ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เกิดจากการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์มะม่วงแก้วกับมะม่วงพันธุ์สามปี ผลดิบจะมีสีเขียวมรกต รสชาติมันกรอบผลแก่มีสีเขียวเข้ม ผลสุกผิวสีเหลือง เมล็ดลีบ รสหวานหอม
มะม่วงมหาชนก เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมะม่วงพันธุ์หนังกลางวันและพันธุ์ซันเซท มีลักษณะเด่น คือ ผลยาวขนาดใหญ่ สีแดงแก้มแหม่ม เปลือกหนาเมล็ดแบนลีบ เนื้อมาก รสชาติอร่อย ผลดิบเปรี้ยวผลสุกกลิ่นหอมรสหวานอมเปรี้ยว มีเส้นใยและเป็นมะม่วงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ
มะม่วงแดงจักรพรรดิ์ หรือมะม่วงพันธุ์ยู่เหวิน มีถิ่นกำเนิดที่ไต้หวัน รสชาติขณะยังดิบหรือห่ามจะหวานมันปนเปรี้ยวนิด ๆ อร่อยเหมือนกินมะม่วงมันทั่วไป เมื่อผลสุกเนื้อในผลจะเป็นสีเหลืองเข้ม เนื้อไม่เละ ไม่มีเสี้ยน รสชาติหวานหอมชื่นใจมาก
มะม่วงอาร์ทูอีทู มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ผลมีลักษณะกลมเนื้อแข็ง ผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 800 กรัม ต่อผล ปริมาณเนื้อผลประมาณ 81.61% เมื่อสุกผิวผลจะมีสีเหลืองอมแดง เนื้อสีเหลืองมะนาว ไม่มีเสี้ยน รสหวานเพียง 18 องศาบริกซ์ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการมะม่วงที่ไม่มีรสหวานจัด
มะม่วงงาช้างแดง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศไต้หวันแล้วกระจายพันธุ์ปลูกในเขตร้อนไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ผลมีขนาดใหญ่ โตเต็มที่มีน้ำหนัก 3.5-4.2 กิโลกรัมต่อผล รูปทรงของผลสวย ปลายผลงอนเหมือนกับงาช้าง ผลอ่อน รสชาติเปรี้ยวกรอบฉ่ำน้ำ ผลแก่จัดยังไม่ถึงสุกมีรส หวานปนมันเหมือนกับเนื้อของมะม่วงเขียวเสวยของไทยทุกอย่าง ผลสุกเนื้อในเป็นสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานหอมเนื้อไม่เละแม้สุกงอม ไม่มีเสี้ยน วัดความหวานของผลสุกได้ประมาณ 15-18 องศาบริกซ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า เกษตรกรที่ยังประสบปัญหาการบริหารจัดการผลผลิต เกิดจากผลผลิตยังไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ทำให้การส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตทั้งหมดจึงต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก
นอกจากนี้มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีช่วงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น ทำให้ต้องประสบปัญหาด้านราคาในช่วงที่ผลผลิตมะม่วงในฤดูออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจำนวนโรงงานแปรรูปผลผลิตที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตมะม่วงยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับผลผลิตที่เหลือเกินความต้องการของตลาดการบริโภคสดเพื่อนำไปแปรรูป
“กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ พัฒนาการแปรรูปและการตลาด เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ วางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างสมดุล ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร จนถึงการเชื่อมโยงตลาด กับภาคเอกชนแบบประชารัฐ โดยดำเนินการภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเกษตรกรชาวสวนมะม่วงซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงทั่วประเทศไทยกว่า 70 กลุ่ม มีสมาชิกมากกว่า 400 ราย เกิดเป็นองค์กรระดับประเทศที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านการควบคุมคุณภาพมะม่วงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกและมีอำนาจการต่อรองกับตลาดในชื่อของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว