ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน– กลางเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และเป็นช่วงที่พืชโดยเฉพาะข้าวมีความต้องการน้ำ จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ฝนตกน้อยและขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก การอุปโภคบริโภค
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการปรับแผนตามสถานการณ์ความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีจำนวนผู้ขอรับบริการฝนหลวง (ข้อมูล ณ 19 ก.ค. 2566) จำนวน 955 แห่ง ครอบคลุม 64 จังหวัด และปัจจุบันกรมฝนหลวงฯ มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกระจายทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก แพร่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ ลพบุรี กาญจนบุรี สระแก้ว หัวหิน สุราษฎร์ธานี ใช้เครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 25 ลำ และเครื่องบินของกองทัพอากาศสนับสนุนอีกจำนวน7 ลำ บินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องทุกวัน เมื่อสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งผลปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 20 กรกฎาคม 2566 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 131 วัน 3,034 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตก 66 จังหวัด พื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 173.94 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 240 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 33 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 207 แห่ง) ทั้งนี้มีแผนปฏิบัติการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ เพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้เขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งถัดไปถึงเดือนกันยายนนี้
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาสที่สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์มหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2566 ทางกรมฝนหลวงฯ ได้มีการจัดโครงการด้านส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ชื่อว่า โครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างผืนป่า เสริมความชื้น เพิ่มโอกาสการทำฝน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์และพระราชปณิธาน
ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดเกี่ยวกับ “ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพิ่มโอกาสการให้เกิดฝนและการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต และการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน
สำหรับการดำเนินการโครงการฯ จะเป็นการร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย การวางแผนกำหนดพื้นที่การโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ได้รับความร่วมมือจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชและกิจกรรมปั้นหุ้มดินเมล็ดพันธุ์พืช ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์จากกรมป่าไม้ และจัดกิจกรรมปั้นหุ้มดินเมล็ดพันธุ์ฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วไป โดยจะมีการส่งต่อให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละภูมิภาคเพื่อนำไปใช้ในการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศต่อไป
และในส่วนการปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละภูมิภาครับเมล็ดพันธุ์พืชที่ทำการปั้นหุ้มดิน และดำเนินการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชหลังจากการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในแต่ละภูมิภาค ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2566 โดยในปีนี้กำหนดพื้นที่อุทยาน/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ (1) อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ (2) อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก (3) อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี (4) อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคํา จังหวัดหนองบัวลำภู (5) อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ (6) อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ (7) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรีและ(8)อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะเป็นการสร้างความสมบูรณ์ในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้กับพื้นที่ป่าต้นน้ำและชุมชนรวมทั้งสร้างแหล่งอาหารสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่าไม้ที่ดำเนินการอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความสามัคคีของทุกภาคส่วน ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้าย