กรมส่งเสริมการเกษตร ยกแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์ ศรีสะเกษ ต้นแบบการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่นได้

%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B5 3
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์ หมู่ที่ 7 บ้านซำตารมย์ ตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ได้ใช้ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ขึ้นเมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีความเข้มแข็ง สมาชิกมีความรู้ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการตลาด มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในชื่อของ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” นำไปสู่การจดสิทธิบัตรเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่สำคัญของจังหวัด โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายได้ราคาดีอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-180 บาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2563 ที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยเกษตรกรยังสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจและสามารถขยายผลความสำเร็จส่งต่อไปยังชุมชนอื่น ๆ ได้อีกด้วย

%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87 1
แปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์

ด้านนายทศพล สุวะจันทร์ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้เริ่มต้นปลูกทุเรียนเมื่อปี 2531 ได้กำไรไร่ละ 100,000 บาท จึงเกิดแนวคิดปลูกทุเรียนทดแทนการปลูกพืชไร่ โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จำนวน 14 ไร่ โดยระยะแรกนั้นมีเกษตรกรในหมู่บ้านใกล้เคียงให้ความสนใจและเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการ ปัญหาที่พบคือ มีการระบาดของโรคและแมลง ทำให้ต้นทุเรียนได้รับความเสียหาย ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ย ฮอร์โมน และสารเคมีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและมีรายได้ลดลง แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์ขึ้นและขับเคลื่อนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิก ยึดหลักร่วมคิดร่วมทำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่าย พัฒนาการอารักขาพืชด้วยนวัตกรรมระบบเกษตรอัจฉริยะโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต มีการใช้ศักยภาพของพื้นที่สร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าทุเรียน พัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่า ร่วมกับการสร้างเรื่องราวของแหล่งกำเนิดทุเรียน สนับสนุนการขึ้นทะเบียน GI โดยมีรูปแบบการจำหน่าย จองต้น หน้าสวน และออนไลน์

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80
แปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์

“สมาชิกแปลงใหญ่ทั้ง 94 ราย มีการบริหารจัดการแปลงตามวิธีการดำเนินงานของแปลงใหญ่ และมีการบริหารจัดการผลผลิตผ่านคณะกรรมการแปลงใหญ่บ้านซำตารมย์ในทุกขั้นตอน ได้แก่ 1) ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ร้อยละ 20 โดยส่งเสริมให้สมาชิกใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมกลุ่มจัดหาปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อต่อรองราคา ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี รณรงค์ใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรค-แมลง 2) เพิ่มผลผลิตให้ได้ร้อยละ 20 ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกอัตรา และถูกเวลา ตามแผนการที่ผลิตไว้ ส่งเสริมให้เกษตรกรปัดดอกทุเรียนเพื่อเพิ่มอัตราการติดลูกและได้ขนาดตามมาตรฐาน 3) พัฒนาคุณภาพทุเรียนให้ได้มาตรฐาน กำหนดให้ทุกแปลงที่ให้ผลผลิตแล้วต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP นำไปสู่การขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI 4) การตลาด ประสานจัดหาแหล่งรับซื้อทุเรียนในราคาที่เหมาะสม มีการจำหน่ายหลากหลายช่องทาง และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดี และ 5) การบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการแปลงใหญ่ สมาชิกทุกคนมีบทบาทในการเป็นเจ้าของกิจการในรูปแบบการถือหุ้นกองทุนและสวัสดิการ ร่วมกันกำหนดกติกาและระเบียบข้อบังคับกลุ่ม เป็นต้น” นายทศพล กล่าว

S 3186691
แปลงใหญ่ทุเรียนบ้านซำตารมย์

ทั้งนี้ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้ผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมของทุกปี มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ กรอบนอก นุ่มใน หวานละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน และเป็นทุเรียนที่ผ่านการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวม 15,072 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 8,873 ไร่ ผลผลิต 14,243 ตัน คิดเป็นร้อยละ 99 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของจังหวัดศรีสะเกษ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ พันธุ์หมอนทอง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) จำนวน 654 ราย พื้นที่ 3,962 ไร่ และมีผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 447 ราย พื้นที่ 2,582.25 ไร่