เป็นเกียรติกับเรื่องเล่าข่าวเกษตร และ”ขุนพิเรนทร์” ที่สุด กับการเข้าพบและสัมภาษณ์ ท่านเลขาส.ป.ก. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข
ก่อนหน้าที่จะไปเรื่องสำคัญ ตาเจ้ากรรมของ “ขุนพิเรนทร์” แอบมองเห็น โพสต์ของตัวเองที่ตั้งคำถาม กับส.ป.ก.
“กฎหมายที่ดินที่อ่อนที่สุดคือ ส.ป.ก.
ซื้อ-ขาย เป็นว่าเล่น เปลี่ยนมือไม่รู้กี่รอบ
48 ปี ส.ป.ก.ฟ้องเอาที่คืนได้กี่ราย ?
ท่านเลขาฯได้เตรียมคำตอบ ไว้เรียบร้อย 4 หน้ากระดาษ เราก็ยิ้มๆ เอาไงเอากัน มาถึงที่แล้ว ท่านเลขาเตรียมมาแล้ว เราก็ลุยตามนั้น (เรื่องนี้เดี๋ยวจะร่ายยาวๆให้ฟังในครั้งหน้านะครับ) วันนี้เอาแบบสั้นๆกระชับๆ “กฎหมายส.ป.ก.เป็นกฎหมายเฉพาะ ที่ผ่านมามีการสั่งดำเนินคดีและสั่งสิ้นสิทธิ์จำนวนไม่น้อยเรียกว่าขึ้นศาลแล้วแพ้ยาก เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ชัดที่สุดคือเพื่อเกษตรกรรม และเพื่อเกษตรกร ”
มาถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือ ทายาทรับมรดกสิทธิ์ที่ส.ป.ก. ที่วันนี้ขยายเวลาออกไป 1 ปี ให้สิ้นสุด15 กรกฎาคม 2567
ท่านเลขาฯ กางข้อมูลแบบชัดๆให้รู้ว่า นี่คือปัญหาใหญ่ในขณะนี้ และ ต้องใช้สรรพกำลังทุกอย่าง 48 ปีที่ผ่านมา ส.ป.ก. ดำเนินงานของการปฏิรูปที่ดินสามารถจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรกว่า 2.9 ล้านรายครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 36.7 ล้านไร่
“จากข้อมูลเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินเสียชีวิตปี 2563 จำนวน 205,930 ราย 280,905แปลงเนื้อที่3,045,269ไร่ ส.ป.ก.จังหวัด สามารถดำเนินการจัดที่ดินกรณีการขอรับมรดกสิทธิ การขอรับการจัดที่ดินแทนที่ กรณีเกษตรกรเสียชีวิตและทายาทมายื่นคำขอรับการจัดที่ดิน ในปี 2564 – 2565 ได้ตามระเบียบฯจำนวน 18,542 ราย 25,528 แปลง เนื้อที่ 349,561 ไร่ ยังคงมีข้อมูลเกษตรกรผู้เสียชีวิต คงเหลือจำนวน189,388 ราย 255,377 แปลง เนื้อที่ 2,695,707 ไร่
ซึ่งยังมีทายาทที่ไม่สามารถยื่นคำขอรับการจัดที่ดินแทนที่ได้ ทันภายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 อันเป็นระยะ 2 ปี ตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. 2564
ดังนั้น หาก ส.ป.ก.จังหวัด ดำเนินการปิดประกาศแจ้งการนำที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและจัดให้แก่เกษตรกรรายใหม่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น ทายาทของเกษตรกรดังกล่าวย่อมไม่มีโอกาสได้รับสิทธิ์ในการจัดที่ดินและจะต้องกลายเป็นผู้เช่าที่ดินต่อไป ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินที่ต้องการให้ที่ดินดังกล่าวตกทอดให้กับทายาทของเกษตรกรเหล่านั้น”
นี่คือที่มาที่ไป ทำไมส.ป.ก.จึงตัดสินใจขยายเวลา ออกไป อีก 1 ปี และในระยะเวลานี้ จะระดมสรรพกำลังเพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จให้ได้
“อย่างนครราชสีมาที่เป็นจังหวัดใหญ่ มีที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด 3,235,411 ไร่ มีทายาทของเกษตรกรที่ยังไม่ได้มายื่นขอรับสิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งหมด 12,074 ราย เป็นที่ดินทั้งหมด 16,916 แปลง คิดเป็น215,294 ไร่ มีทายาทมายื่นขอรับสิทธิ์เพียง 1,146 ราย เป็นที่ดิน 1,651 แปลง คิดเป็น 23,268 ไร่ ยังคงเหลือทายาทอีกจำนวน 10,928 ราย ที่ยังไม่ได้มายื่นคำร้องขอรับสิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ต่อจากเกษตรกรที่เสียชีวิต หรือคิดเป็นร้อยละ 90 หากเราไม่ขยาย หนึ่งหมื่นรายนี้จะมีปัญหา เนื้อที่เกือบ200,000 ไร่ ไม่น้อยเลยนะครับ ที่สำคัญ ถ้าไม่เลื่อน วันหนึ่งเจ้าหน้าที่รับเรื่อง รับเอกสาร จัดคิวได้วันละกี่รายก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ในทุกพื้นที่”
เมื่อถามท่านเลขาว่า “คาดว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะทำเรื่องทายาทเสร็จ” ท่านเลขาตอบว่า คร่าวๆ 3 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับบุคลากรที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่เมื่อเราขยายไปอีกหนึ่งปี ส.ป.ก.ก็ต้องใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ ไปให้ถึงเพื่อทายาทเกษตรกรที่รอเราอยู่
“วันนี้เกษตรกร 200,000 รายที่ตกค้างทายาทยังไม่มายื่นรับมรดกสิทธิ เรามีเกษตรกรที่อายุ 70 ปีขึ้นไปอีก 370,000 ราย มีเกษตรกรอายุ 60-69 ปี อีก 537,477 ราย กลุ่มเกษตรกรที่อายุเยอะเริ่มจะโอนสิทธิให้ทายาท เอาตัวเลขกลมๆ 1 ล้านราย ที่อยู่ในข่ายการที่จะมีโอกาสการโอนสิทธิสูง
ส.ป.ก.ตั้งมาแล้ว 48 ปี อายุเกษตรกรเฉลี่ย 57 ปี เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เรามองมาโดยตลอด เรามีที่ดิน 40 ล้านไร่ เป็น แลนด์ลอร์ดทางภาคการเกษตรที่สำคัญที่สุด เป็นแผ่นดินเพื่อเกษตรกรรมของรัฐที่มีอยู่ แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ ที่ดิน ส.ป.ก. เราไม่ได้ที่ดินเปล่าๆมาจัดให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ แต่เรามีเกษตรกรติดตามมากับที่ดิน บางแห่งคนเกิดในพื้นที่ บางแห่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ทุกวันนี้ก็ยังต้องพิสูจน์สิทธิกันก็มี แต่เราไม่ได้ไปโทษใคร หน้าที่เราคือจัดที่ดินให้เกษตรกร เมื่อจัดแล้วเราก็พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรของเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
“ปัญหามีไว้แก้ครับ เราไม่หนีปัญหา ผมบอกทุกคน สิ่งไหนเป็นนโยบายและเลขาสั่งการลงไป ผมรับผิดชอบ ผมแอ่นอกรับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส.ป.ก.ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อเกษตรกร และ ผมก็มั่นใจสิ่งที่ผมสั่งไปนั้นถูกต้อง ถูกกฎหมาย แม้จะไม่ถูกใจใครก็ตาม ผมชนให้คนของผมเสมอเมื่อเจอปัญหา”
“ขุนพิเรนทร์” ฟังถึงตรงนี้ ไฟเริ่มติดแล้ว หัวเชื้อเริ่มเผาเบาๆ ถามต่อเลย แล้วการเปลี่ยนส.ป.ก.เป็นโฉนดเหมือนที่พรรคการเมืองหลายพรรคนำเสนอในช่วงหาเสียง ท่านเลขา ส.ป.ก.ตอบแบบสั้นๆว่า “เราเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้วครับ ใครมาเราก็ต้องทำตามรัฐ”
EP 1 แบบพอหอมปากหอมคอ ส่วน EP 2 กับท่านเลขาส.ป.ก. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เราจะเจาะรายละเอียดกันกับคำถามที่เกษตรกรฝากไปถาม
“ทำไมเกษตรกรในพื้นที่ส.ป.ก.จะรวยไม่ได้ เกษตรกรจะต้องใช้ชีวิตเพื่อเกษตรกรรมอย่างเดียวเลยหรือโลกทางการเกษตรเปลี่ยนไป แต่กฎหมายยังเป็นแบบเดิม ส.ป.ก. ไม่เอื้อต่อการพัฒนา”
เราจะเปิดมุมมองของเลขาธิการส.ป.ก. ที่แม้แต่ “ขุนพิเรนทร์” ที่ทำข่าวส.ป.ก.มานานได้ยินแล้วยังสะดุ้งนอกจากความเป็นผู้นำจะสูงแล้ว คนๆนี้ไม่ได้มองแค่ภาพวันนี้ แต่วาดภาพ ส.ป.ก. 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ