“โครงการท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง” นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่ สปป.ลาว พัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุน “ยุทธศาสตร์” การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (land-linked)
ที่ “ท่าบกท่านาแล้ง” เป็นจุด “อำนวยความสะดวก” อย่างครบวงจรในการ “เปลี่ยนถ่ายสินค้า” ที่ขนส่งจากไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) เข้าสู่ สปป.ลาว
สินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อเข้าสู่ตลาด สปป.ลาว และอีกส่วนหนึ่งเพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว สู่ตลาดจีน
โดย “รถไฟจีน-ลาว” ได้ช่วยลดระยะเวลา “การขนส่ง” ลงอย่างมาก จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เพื่อไปจีน เป็นใช้เวลาบนรถไฟ “ไม่เกิน 15 ชั่วโมง”
ปัจจุบันรถไฟจีน-ลาว มีขบวนขนส่งสินค้าเข้า-ออก 14 ขบวนต่อวัน ขาเข้าและขาออกอย่างละ 7 ขบวน
นอกจากนี้ นับตั้งแต่จีนสร้างจุด “ตรวจเช็กด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช” ที่ด่านรถไฟโม่ฮานแล้วเสร็จ และเปิดให้นำเข้าผลไม้จากไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2565 ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน โดยใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้มากขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ เมื่อเดือน ธ.ค.2564 พบว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก
เดิมเคยมี “มูลค่าส่งออก” จากไทยทาง “ด่านหนองคาย” ผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีน อยู่ที่ 90.41 ล้านบาท ในปี 2564 แต่เมื่อ “เส้นทางรถไฟจีน-ลาว” เริ่มเปิดใช้บริการ มูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีน เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565 และเป็น 2,848.41 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.)
ทั้งนี้ ร้อยละ 72 ของมูลค่าส่งออก หรือ 2,073.18 ล้านบาท เป็นการส่งออก “ทุเรียนสด” จากไทยไปจีน ขยายตัวร้อยละ 364.69
สำหรับ “สินค้าอื่น ๆ” ที่ส่งออกจากไทยทางด่านหนองคาย เพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว ไปจีน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลายข้าวเหนียว ยางพารา แร่เฮมาไทต์และหัวแร่ เม็ดพลาสติก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
หากดูสถิติในช่วง 5 เดือนของปี 2566 เจาะลึกลงไปอีก พบว่า นอกจากทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปจีน มูลค่า 2,091.58 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.23 แล้ว ยังมี “ผลไม้สด” ของไทยชนิดอื่น ที่มีแนวโน้ม “ทำตลาดได้ดี” ในจีน
ยกตัวอย่างเช่น “มะม่วง” มูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 218.35 “สับปะรด” มูลค่า 6.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 84.04 “ลำไย” 108.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.82 และ “มังคุด” 219.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.18 เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่า “ผลไม้ไทย” ได้รับ “ความนิยม” ในผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ “โอกาส” ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางอรมน มีข้อแนะนำว่า การส่งออกสินค้าไทยและผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาด สปป.ลาว และส่งต่อไปยังจีน สามารถใช้ประโยชน์จาก “ท่าบกท่านาแล้ง” ในการเป็นจุดกระจายสินค้า ทั้งเข้าสู่ตลาด สปป.ลาว และส่งต่อไปยังตลาดจีน ได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกมี “ครบครัน” สามารถส่งสินค้าข้ามแดนเข้ามา และขนถ่าย เข้าสู่ตลาดสปป.ลาว หรือส่งออกต่อไปยังจีนได้โดยง่าย
อย่างไรก็ตาม ในการส่งออกสินค้าไทยไป สปป.ลาว หรือส่งต่อไปจีน “เกษตรกร” และ “ผู้ประกอบการ” ต้อง “อย่าลืม” ใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้งกรอบ “อาเซียน” กรอบ “อาเซียน-จีน (ACFTA)” และ “ความตกลง RCEP” ซึ่งสปป.ลาว และจีน ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยแล้ว เพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลไม้ไทย
หากดูสถิติในช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิ์ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) ส่งออกทุเรียนสดไปจีน มูลค่า 2,022 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้สิทธิ์ความตกลง RCEP ส่งออก มูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ท่าบกท่านาแล้ง” ไม่เพียงแต่เป็น “ประตู” สำหรับ “สินค้าไทย” และ “ผลไม้ไทย” เข้าสู่ตลาด สปป.ลาว และส่งออกต่อไปยังตลาดจีน
แต่ยังเป็น “ทางเลือกใหม่” ในการส่งออกไปสปป.ลาว ไปจีน เพราะเป็นจุดที่ “สะดวก-รวดเร็ว” มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ใครที่คิดจะเจาะตลาด สปป.ลาว เจาะตลาดจีน
“ท่าบกท่านาแล้ง” ควรเป็นหนึ่งใน “ตัวเลือก” สำหรับ “การส่งออก”
เพราะระบบ “การบริหารจัดการ” เขาดีจริง ๆ
โอกาสที่ “สินค้าไทย” และ “ผลไม้ไทย” จะเจาะเข้าสู่ตลาดสปป.ลาว และจีนได้เพิ่มขึ้น
ก็ไม่ใช่เรื่องที่ “ไกลเกินจริง”
ที่มา- กระทรวงพาณิชย์