ชงปลูกฟ้าทะลายโจรพันธุ์ดีด้วยเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตร ต่อยอดสร้างรายได้ขยายผลสู่เกษตรกรภาคใต้ตอนบน

กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ชงปลูกฟ้าทะลายโจรพันธุ์ดี 2 สายพันธุ์ พิษณุโลก 5-4 และพิจิตร 4-4 สารแอนโดรกราโฟไลด์สูงเจริญเติบโตได้ดี พร้อมขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกฟ้าทะลายโจรพันธุ์ดีด้วยเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรสร้างรายได้เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ตอนบน

.

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี ได้วิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ โดยนำฟ้าทะลายโจรพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร 2 สายพันธุ์ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตและสารสำคัญสูง คือ สายพันธุ์พิษณุโลก 5-4 ที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 8.89 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4,187 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 20.4 มีอายุเก็บเกี่ยวที่ระยะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ 77 วัน และสายพันธุ์พิจิตร 4-4 ที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 12.20 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,880 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 14.1 มีอายุเก็บเกี่ยวที่ระยะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ 82 วัน มาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยวผ่านการฝึกอบรม รวมถึงการผลิตและสนับสนุนต้นกล้าฟ้าทะลายโจรสู่เกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับกระทรวงสาธารณสุข ของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

.

358083420 584751593833851 7430725123315416803 n

ปี 2565 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ได้ดำเนินการโครงการการนำผลงานวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตร เรื่อง การนำพืชพันธุ์ดีฟ้าทะลายโจร เทคโนโลยีการผลิต และการเก็บเกี่ยวของกรมวิชาการเกษตรสู่กลุ่มเป้าหมาย ผ่านการดำเนินงาน 2 กิจกรรม คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 กลุ่ม 100 ราย และจัดทำเอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์ เรื่อง “การปลูกฟ้าทะลายโจร” จำนวน 2,000 ฉบับ อีกทั้งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยว” ซึ่งพบว่า เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีการผลิตและการเก็บเกี่ยวไปปรับใช้ภายในกลุ่ม สามารถผลิตฟ้าทะลายโจรที่มีสารสำคัญสูงและคุณภาพ สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรไว้ปลูกหมุนเวียนภายในกลุ่มต่อไปได้ และสร้างแปลงต้นแบบพืชสมุนไพรเพื่อนำมาแปรรูปเป็นยาสมุนไพรแจกจ่ายให้กับสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงให้เพื่อนบ้านนำไปใช้ในการป้องกันรักษาอาการไข้ต่างๆ ได้

.

นอกจากนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ได้ผลิตต้นกล้าฟ้าทะลายโจรพันธุ์พิษณุโลก 5-4 และ พิจิตร 4-4 จำนวน 6,012 ต้น ให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน และเกษตรกรผู้สนใจ พร้อมกับได้สนับสนุนต้นกล้าฟ้าทะลายโจร จำนวน 5,400 ต้น ให้แก่กองพันธ์เสนารักษ์ที่ 5 ผ่านโครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเก็บใบสดฟ้าทะลายโจรส่งให้กับโรงพยาบาลค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ได้นำไปผลิตเป็นแคปซูลยาฟ้าทะลายโจรใช้ในการรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วย ประชาชน และกำลังพลในค่ายเทพสตรีศรีสุนทร โดยมีพื้นที่ปลูก 2 ไร่ มีต้นกล้าฟ้าทะลายโจร จำนวน 3,450 ต้น และตัดใบสดฟ้าทะลายโจรส่งให้กับโรงพยาบาล จำนวน 16 กิโลกรัม

.

“ปัจจุบันสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 ได้ดำเนินการผลิตส่วนขยายพันธุ์ (เมล็ดฟ้าทะลายโจร) ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3 กลุ่ม เพื่อปลูกจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU การรับซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจรระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการสุราษฎร์ธานีเมืองสมุนไพรในการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการปลูก การแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการยกระดับมาตรฐานสมุนไพร ซึ่งได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรพันธุ์พิษณุโลก 5-4 และพิจิตร 4-4 จำนวน 50 กรัม และจัดทำปฏิทินการปลูกและการดูแลฟ้าทะลายโจรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว