เตือนเกษตรกรและผู้ส่งออกเฝ้าระวัง “ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง”

ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง : Sternochetus olivieri (Faust) ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็งที่เข้าทำลายกัดกินเมล็ดภายใน“ผลมะม่วง” และเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกมะม่วงไปต่างประเทศ

ลักษณะของ “ด้วงงวงเจาะเมล็ด” เป็นด้วงงวงปีกแข็งขนาดลำตัวกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร ตัวสีน้ำตาล ตัวหนอนจนถึงตัวแก่กัดกิน “เมล็ดมะม่วง”ภายในผลและเจาะออกมาภายนอกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง

286326226 352862890326265 6200829980708507200 n
ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง

การเข้าทำลาย “ด้วงงวง” จะออกไข่ครั้งละ 8 – 10 ฟอง ช่วงมะม่วงติดผลอ่อน ตัวหนอนขนาด 1 มิลลิเมตร จะเจาะเข้าไปในผลทะลุเข้าไปในเมล็ดกัดกินเนื้อเมล็ดเป็นตัวหนอนขนาด5 มิลลิเมตร อายุ 30 วัน แล้วเข้าสู่ดักแด้ขนาดกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร พักตัว 30 – 45 วัน และฟักเป็นตัวแก่ขนาดกว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 8 มิลลิเมตร

เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะออกสู่ภายนอกหรืออาศัยกัดกินผลมะม่วงสุก เน่า หรืออินทรียวัตถุ และอาศัยตามดิน หรือรอยแตกของต้นมะม่วง และเมื่อมะม่วงติดผลใหม่ด้วงตัวแก่จะออกมาวางไข่อีกครั้งเป็นวัฏจักรอย่างนี้ต่อไป

สำหรับการป้องกันและกำจัด

1. วิธีเขตกรรม ในสภาพแปลงปลูกให้ดูแลเก็บผลมะม่วงสุกที่ถูกด้วงเข้าทำลายหรือเผาทิ้ง ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง กำจัดวัชพืช พร้อมพรวนดินบริเวณทรงพุ่ม และหมั่นทำความสะอาดแปลงเสมอ

2.ทางเคมี พ่นสารเคมีอิมิดาคลอพริด อัตราส่วน 5 – 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และแลมป์ด้าไซฮาโลทริน อัตราส่วน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์พริด 5.85 อัตราส่วน 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ พ่น ล้างต้นและลงดินเพื่อฆ่าตัวแก่ในระยะมะม่วงเริ่มแทงช่อดอก ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อควบคุมเพลี้ยไฟ ราแอนแทรคโนส สารควบคุมเพลี้ยไฟ ควรใช้สารเคมีแลมป์ด้าไซฮาโลทริน หรืออิมิดาคลอพริด (สลับกันไปเพื่อป้องกันแมลงดื้อยา) ทุก ๆ 7 – 10 วัน ยกเว้นช่วงดอกบานและทำการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่อไป

ส่วนการดูแลต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะ “ด้วงงวงเจาะเมล็ด” ให้ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มอิมิดาคลอพริด และแลมป์ด้าไซฮาโลทรินอัตราข้างต้น โดยเฉพาะระยะมะม่วงติดผลเล็ก ขนาดเมล็ดถั่วเขียวจนถึงระยะห่อผล สามารถควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดได้แน่นอน

3.การควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดนอกแปลงปลูก เมล็ดมะม่วงที่โรงงานนำมาแปรรูปแล้วควรควบคุมด้วงงวงเจาะเมล็ดด้วยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูมะม่วง (กลุ่มอิมิดาคลอพริด หรือแลมป์ด้าไซฮาโลทริน) เก็บไว้ในโรงที่ทำด้วยมุ้งลวดกันแมลงแพร่กระจาย

สำหรับผู้ที่นำเมล็ดมะม่วงจากโรงงานมาทำการแกะเมล็ดเพาะเป็นกล้า ต้องชุบเมล็ดด้วยสารเคมีอิมิดาคลอพริด 5 – 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแลมป์ด้าไซฮาโลทริน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 25 นาที หรือถ้าเป็นเมล็ดที่แกะแล้วควรฉีดพ่นทำลายแมลงตัวแก่ที่เมล็ด เพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดต่อไป

4.สำหรับการแก้ปัญหาการส่งออก ผู้ส่งออกต้องตระหนักและให้ความร่วมมือซื้อมะม่วงจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น เพื่อลดปัญหาด้วงงวงเจาะเมล็ดกับมะม่วงที่ส่งออกไปยังปลายทาง และขอความร่วมมืออย่านำใบรับรอง GAP ของสวนอื่นไปสวมสิทธิเพื่อซื้อขายส่งออก