นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีและโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่กรมสุขภาพสัตว์ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเข้าศึกษาดูงานด้านโคเนื้อภายในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2565 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าโคกระบือมีชีวิตจากไทยไปยังเวียดนาม เป็นเวลากว่า 6 เดือนที่หน่วยงานภาครัฐของไทยและเวียดนาม ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ รวมถึงขั้นตอนการกักกันสัตว์ การตรวจโรค และการรับรองสุขภาพสัตว์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับแจ้งจากฝ่ายเวียดนาม อนุมัติให้ฟาร์มโคกระบือของไทยที่ได้แจ้งความประสงค์จะส่งออกโคกระบือมีชีวิตเพื่อการบริโภค สามารถส่งออกจากไทยไปยังเวียดนาม จำนวนทั้งสิ้น 14 ฟาร์ม คิดเป็นปริมาณจำนวนโคกระบือทั้งสิ้นกว่า 7,000 ตัว ประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 295 ล้านบาท โดยประกาศดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ถึง 23 กันยายน 2566 ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีต่อเกษตรกรไทยที่สามารถขยายตลาดการส่งออกโคกระบือมีชีวิตไปยังต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยต่อไป
โดยข้อปฏิบัติสำหรับประกอบการส่งออกโคและกระบือมีชีวิตไปยังเวียดนาม ประกอบด้วย
1.ใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Veterinary Health Certificate) ของกรมปศุสัตว์ที่ลงนามโดยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์และตราประทับ
2.บันทึกการควบคุมการขนส่งระหว่างไทยและลาว (Minute of movement control) โดยระบุจำนวนโคและกระบือ หมายเลขปิดผนึกของไทยและลาว และทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งจากลาวไปเวียดนาม
3.อยู่ในรายชื่อฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยที่กรมปศุสัตว์ส่งรายชื่อและกรมสุขภาพสัตว์เวียดนามให้การยอมรับ โดยระบุที่อยู่และจำนวนสัตว์อย่างชัดเจน
4.ในการส่งออกแต่ละครั้ง ทันทีที่ส่งสัตว์ออก กรมสุขภาพสัตว์เวียดนามให้ด่านกักกันสัตว์ที่ส่งออกสแกนเอกสารใบรับรองสุขภาพสัตว์และแจ้งข้อมูลผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมสุขภาพสัตว์เวียดนามจะดำเนินการให้นำเข้าเฉพาะสัตว์ที่กรมปศุสัตว์แจ้งผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านสุขภาพสัตว์ และความปลอดภัยด้านสินค้าปศุสัตว์ ได้ดำเนินงานในการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มถึงโรงเชือดชำแหละและแปรรูป เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า ในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย จากการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล ด้วยความเข้มงวดต่อเนื่องมาโดยตลอดทำให้ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศทั่วโลก โดยในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อ กรมปศุสัตว์มีการสนับสนุน ควบคุมและกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานการเลี้ยงโคเนื้อตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานฟาร์มปลอดโรค (GFM) มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (GAP) รวมไปถึงการรับรองฟาร์มปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดง ตลอดจนมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นใจและดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ