ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ “กุ้งก้ามกรามบางแพ” ของดีจังหวัดราชบุรี

กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “กุ้งก้ามกรามบางแพ” ของดีจังหวัดราชบุรี และเป็นรายการที่ 5 ของจังหวัด มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการตลาด และช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีรายได้เพิ่มขึ้น เผยล่าสุดสร้างรายได้สู่ชุมชนได้ปีละกว่า 2,500 ล้านบาท
         

DyC4OB4UUAAZkFb
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กุ้งก้ามกรามบางแพ ของจังหวัดราชบุรี โดยเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 5 ของจังหวัดราชบุรี ต่อจากสินค้ามะพร้าวน้ำหอมราชบุรี สับปะรดบ้านคา โอ่งมังกรราชบุรี และไชโป้วโพธาราม ที่ได้ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ และมั่นใจว่าผลจากการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกุ้งก้ามกรามบางแพได้เพิ่มขึ้น สร้างโอกาสทางการตลาด และช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
         

โดยกุ้งก้ามกรามบางแพ เป็นเป็นกุ้งก้ามกรามที่มีเปลือกสีน้ำเงินมันเงา ก้ามสีน้ำเงินหรือสีครามปนสีทอง เนื้อแน่นเต็มเปลือก เมื่อปรุงสุกจะมีรสชาติหวาน มีมันกุ้งมาก และไม่มีกลิ่นคาว โดยพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพจะครอบคลุมอำเภอบางแพ อำเภอดำเนินสะดวก และอำเภอโพธาราม ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะเป็นดินเหนียวสีเทาเข้มถึงสีดำ ที่มีเนื้อละเอียดถึงละเอียดมาก เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำจืด น้ำทะเล และน้ำกร่อย รวมถึงบางส่วนเกิดจากตะกอนน้ำพัดพา จึงมีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุและจุลินทรีย์สูง และด้วยลักษณะอากาศที่เย็น ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด จึงทำให้พื้นที่เหมาะแก่การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพเป็นอย่างยิ่ง โดยในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งได้ขนานนามให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเมืองหลวงของการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพกว่า 1,122 ราย สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยกว่า 2,569 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงถึงความสําเร็จของการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของผลผลิต

“กรมฯ มุ่งมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชน สนับสนุนสินค้าที่มีอัตลักษณ์ในพื้นที่แหล่งผลิตแต่ละท้องถิ่น ให้ขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างชื่อเสียง และรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น โดยสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว จะได้รับการส่งเสริมให้จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า ตลอดจนขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่องและครบวงจร”นายวุฒิไกรกล่าว

สำหรับวิสาหกิจชุมชน หรือชุมชนท้องถิ่น ที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะตามแหล่งภูมิศาสตร์ และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368