วันที่ 5 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเนื่องใน “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2565” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ “ชาวนาไทย” ทั่วประเทศในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักให้กับประชาชน รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของ “ข้าว”ในฐานะเป็นพืชหลักและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โอกาสนี้นายกฯย้ำว่า “ข้าว” ถือเป็นอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างชุมชนชาวนาไทยมาอย่างยาวนานและได้มีการถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาในการปลูกข้าวจากรุ่นสู่รุ่น โดยยังคงวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ข้าวไทย ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ไปจนถึงการแปรรูป จวบจนปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวไทยจนมีชื่อเสียงในระดับโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ด้วยความสำคัญที่ผูกพันลึกซึ้งระหว่างข้าวและชาวนา ที่มีมาอย่างยาวนาน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าของข้าว ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน รวมทั้งความสำคัญของ “ชาวนา”ทั้ง 4.7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศในฐานะที่เป็นผู้สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประเทศชาติ และเป็นผู้ธำรงรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาของชาวนาที่ต้องเผชิญ ทั้งเรื่องปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสถานการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งรัฐบาลได้ขับเคลื่อนทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งกระจายไปสู่ฐานราก รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น ผ่านนโยบายการประกันรายได้ เพื่อให้ชาวนาทุกคนได้มีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง
พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาสายพันธุ์และการรับรองพันธุ์ข้าวที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันในตลาดได้ รวมไปถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาในการทำนาแบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มพูนอำนาจในการต่อรองราคาผลผลิต และลดต้นทุนปัจจัยการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการ และเชื่อมโยงไปสู่ตลาดผู้บริโภคโดยตรง เพื่อให้พี่น้องชาวนามีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป