จากความท้าทายของสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตอาหารของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความต้องการแรงงาน ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรจากการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เป็นการทำเกษตร ปศุสัตว์ และ การประมงอัจฉริยะที่มีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการการผลิตที่มีความแม่นยำสูง ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ประสบความสำเร็จในการปรับกระบวนทัศน์สู่เกษตรกรรมล้ำสมัยครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยจีนมีวิสาหกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงรายใหญ่ที่ขยายสาขาธุรกิจไปยังสาขาเกษตรอัจฉริยะหลายราย อาทิ Alibaba / Tencent NetEase / Huawei / JD และ Baidu
มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในมณฑลนำร่องที่มุ่งดำเนินนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างจริงจัง โดยใช้จุดแข็งจากการเป็นมณฑลที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดของจีน พื้นฐานของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการเกษตรที่แข็งแกร่ง นโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นที่มุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรอัจฉริยะผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับตลอดกระบวนการผลิตผ่านการสร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูลดิจิทัลของฟาร์มเพื่อเก็บข้อมูลและควบคุมการเพาะปลูกและการเลี้ยงด้วยระบบอัตโนมัติ ระบบแจ้งเตือนความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มโดรนเพื่อการเกษตรที่มีความสามารถในการลาดตระเวนตรวจสอบสภาพการเพาะปลูก โดยเชื่อมโยงกับพิกัดดาวเทียมเป่ยโต่ว+5G เพื่อได้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ฯลฯ ที่แม่นยำสำหรับประกอบการวิเคราะห์การเพาะปลูกและดูแลผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการใช้แรงงานภาคการเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร จนถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิรซ์
ขณะเดียวกันมณฑลฝูเจี้ยนมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและการวิจัยของจีน เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตรใหม่ ๆ และความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาทักษะผ่านการจัดตั้งศูนย์อบรมเชิงเทคนิคด้านเกษตรดิจิทัลและอีคอมเมิร์ชแก่ประชาชนในเขตชนบทด้วย
การปรับโครงสร้างภาคการเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG ของไทย โดยที่ผ่านมาไทยมุ่งยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบ้างแล้ว
อย่างไรก็ดี เกษตรอัจฉริยะของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยไทยยังต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเกษตรที่อาศัยต้นทุนต่ำเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและทักษะการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรแก่แรงงานภาคเกษตร ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้และทักษะด้านดิจิทัลและหลากหลายสาขา อาทิ วิศวกรรม เป็นต้นตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ ไทยสามารถถอดบทเรียนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของจีนและมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาภาคเกษตรของไทย และส่งเสริมหุ้นส่วนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันวิจัยระหว่างไทย-จีน ตลอดจนการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน ในภาคการลงทุน ไทยต้องเร่งชักจูงการลงทุนจากวิสาหกิจจีนที่มีศักยภาพด้านการสร้างระบบบริการเทคโนโลยีการเกษตรที่ล้ำสมัย เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งความร่วมมือในการฝึกอบรมทักษะการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความเข้มแข็งแก่ห่วงโซ่อุปทานการเกษตรของไทยในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
ที่มา-ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองเซี่ยเหมิน