กรมการค้าภายในโชว์ความพร้อมรับมือผลไม้ภาคใต้ ที่จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป เตรียมประสานผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออก แปรรูป ล้ง ห้าง ผู้จำหน่ายในประเทศ เข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงที่ และใช้มาตรการเร่งระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่ นำขายผ่านห้างค้าส่งค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ปั๊ม โมบาย และเปิดจุด Fruit Festival 2023 เผยล่าสุดราคามังคุดเกรดมัน พุ่งสูงสุดกิโลกรัมละ 108 บาทแล้ว เพิ่ม 173% ทุเรียนเกรดส่งออกกก.ละ 120-135 บาท เพิ่ม 8%
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนก.ค.2566 เป็นต้นไป ผลไม้ภาคใต้ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง จะเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 ไว้แล้ว และจะมีหลายมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลผลไม้ภาคใต้ โดยมาตรการแรก จะระดมผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออก ผู้แปรรูป ล้งไทย ล้งจีน ห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้จำหน่ายในประเทศ เข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง มีกรมฯ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะถือเป็นมาตรการหลัก เพราะช่วยระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้มากและเร็ว และจะช่วยดันราคาให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ส่วนมาตรการเสริม จะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นภาคีเครือข่ายเอกชนของกรมฯ ได้แก่ ห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งมีสาขามากกว่า 20,000 สาขา รถโมบาย รับซื้อผลผลิตผลไม้จากเกษตรกร เพื่อนำไปจำหน่ายทั่วประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งระบายผลผลิต และให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้บริโภคผลไม้ภาคใต้ และยังมีกำหนดจัดกิจกรรม Fruit Festival 2023 เปิดจุดจำหน่ายผลไม้ทั่วประเทศ รวมทั้งจะร่วมมือกับสายการบิน เปิดให้ประชาชนโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องได้ฟรี ซึ่งจะช่วยระบายผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ผลจากการเข้าไปช่วยดูแลผลไม้ภาคใต้ พบว่า มังคุด รุ่นแรก ออกสู่ตลาดแล้ว กำลังจะเข้าสู่ผลผลิตรุ่น 2 โดยราคามังคุดเกรดมัน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของภาคใต้ ราคาขยับขึ้นเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 95-108 บาท เพิ่มขึ้น 173% หรือเพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 37 บาท/กก. เกรดลาย ราคา 53-81 บาท/กก. เพิ่ม 91% เพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 35 บาท/กก. และเกรดดอกดำ ราคา 33-59 บาท/กก. เพิ่ม 84% หรือเพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 25 บาท/กก. ส่วนราคามังคุดในจังหวัดอื่น ๆ เช่น นครศรีธรรมราช และพังงา ก็ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน
สำหรับทุเรียน ขณะนี้ออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 20% ราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง คือ เกรดส่งออก ราคา 120-135 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 8% เพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 116 บาท/กก. และเกรดคละ ราคา 80-85 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 29% หรือเพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 64 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม เฉพาะทุเรียน ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดมากนับจากนี้ไปนั้น กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การรับซื้อ พบว่า สัปดาห์นี้ ผู้ประกอบการรับซื้อทุเรียนจากภาคตะวันออก ทั้งผู้ส่งออก ล้งไทย ล้งจีน ผู้ค้าส่ง ได้ลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับซื้อผลผลิตทุเรียนครอบคลุมพื้นแล้ว 80% และยังได้ร่วมมือกับตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในส่วนของภาคใต้ มีล้งกว่า 50 ราย และผู้ประกอบการที่ซื้อทุเรียนไปจำหน่ายในประเทศ ห้องเย็น โรงงานแปรรูป กว่า 300 ราย เข้าไปรับซื้อแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ออกตรวจสอบและติดตามการซื้อขาย และดูแลไม่ให้มีการฮั้วกดราคา หรือมีพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร โดยหากตรวจสอบพบ จะดำเนินการตามกฎหมาย 2 ฉบับอย่างเด็ดขาด คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 72 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 กรณีทำให้เกิดความปั่นป่วนด้านราคา มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ