นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีและโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากปศุสัตว์จังหวัดชลบุรีและหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ว่าได้ร่วมกับจนท.ตร.สทล 2 กก.3 ชลบุรี และตร.บก.สส.ภจว.ชลบุรี ทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ รถบรรทุกพ่วง ซึ่งถูกสกัดจับและเคลื่อนย้ายมาเปิดตู้ตรวจสอบบริเวณสถานีตำรวจทางหลวงหนองมน
ผลการตรวจสอบรถบรรทุกและเอกสารหลักฐานจากคนขับรถ พบรายละเอียดดังนี้
1. สินค้าภายในรถบรรทุก เป็นขาไก่ ติดฉลากที่กล่องและถุงบรรจุ จากโรงงานส่งออกไก่ (แต่รถบรรทุกพ่วงคันนี้ มีต้นทางออกมาจากห้องเย็น
ของบริษัทฯแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งไม่ใช่ต้นทางของโรงงานผู้ผลิตส่งออกไก่ )
2.ไม่มีเอกสารใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ฯ(ร.3)จากสัตวแพทย์ต้นทางในพื้นที่ตั้งของห้องเย็นบริษัทฯต้นทางในจังหวัดสมุทรสาคร มายังปลายทางที่ท่าเรือแหลมฉบัง
3.ใบขนสินค้าขาออกไปประเทศจีน ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเอกสารน่าจะถูกปลอมแปลง เพราะใช้แบบใบอนุญาตค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (ร.10)นำไปยิงใบขนสินค้าขาออก เพื่อรอการส่งออกไปยังประเทศจีนกับทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (ในกรณีที่ถูกต้อง จะต้องใช้แบบใบอนุญาต นำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร (ร.9) ที่ออกโดยด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ในการยิงใบขนสินค้าขาออกกับสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง เท่านั้น)
ในเบื้องต้น หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางผู้กระทำความผิดที่สภ. แสนสุข จังหวัดชลบุรี เนื่องจากเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ฝ่าฝืนมาตรา 22 เคลื่อนย้ายซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยของกลางได้อายัด และนำไปเก็บรักษาไว้ที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์พิสูจน์โลจิสติกส์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อรอส่งมอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายและจะตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินคดีเพิ่มเติมตามฐานความผิดที่เกิดขึ้นต่อไป
รองอธิบดีและโฆษกกรมปศุสัตว์กล่าวต่อไปว่า กรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเบื้องต้น พบว่าเอกสารประกอบการขนย้ายสินค้าที่ถูกจับกุมดังกล่าว ไม่มีเอกสารประกอบการส่งออกของกรมปศุสัตว์แต่อย่างใด และเมื่อตรวจสอบรายละเอียดสินค้าที่ถูกจับกุมดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่โรงงานส่งออกไก่ ตามที่ออกข่าวนั้น เป็นผู้ผลิต น่าจะเป็นการแอบอ้างและระบุข้อมูลในฉลากอันเป็นเท็จโดยกรมปศุสัตว์และบริษัท ผลิตไก่ส่งออก จะร่วมกันดำเนินคดีตามฐานความผิดที่เกิดขึ้นกับผู้แอบอ้างและปลอมแปลงเอกสาร ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับโรงงานส่งออกไก่ ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับแล้ว พบว่าปริมาณการส่งออกของโรงงานผลิตไก่ส่งออกดังกล่าว มีความถูกต้องและสอดคล้องกับข้อมูลของกรมปศุสัตว์
รองอธิบดีและโฆษกกรมปศุสัตว์กล่าวต่ออีกว่า กรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญ และเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมาย หลักสากลและเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้ากำหนด โดยโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก จะมีสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ หากถูกต้องครบถ้วนสัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ จะออกหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ใช้ประกอบการส่งออก
ถ้าพบผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามหรือกระทำความผิดจะระงับการส่งออกทันที และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด จากการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีความมั่นใจสินค้าปศุสัตว์จากประเทศไทยว่ามีคุณภาพและความปลอดภัยสูง ทำให้ยอดการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 สามารถส่งออกได้มูลค่า 85,059 ล้านบาทสินค้าเด่นคือเนื้อไก่และชิ้นส่วนไก่แช่เย็นแช่แข็ง มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 46,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจส่งออกสินค้าปศุสัตว์ด้วยว่า อย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่าจะสามารถจัดหาสินค้าขาไก่หรือชิ้นส่วนเน้ือไก่ ส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆได้ โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องจากกรมปศุสัตว์ เพราะการส่งออกชิ้นส่วนเน้ือไก่หรือเน้ือสัตว์อื่นๆ จะต้องมาจากการเลี้ยงที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์ม ผ่านโรงงานเชือดชำแหละที่ได้รับรองมาตรฐานการส่งออก ผ่านการตรวจสอบจากสัตวแพทย์ประจำโรงงาน และได้รับใบรับรองสุขอนามัยจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนได้ทุกขั้นตอนการผลิต โดยต้องได้คุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้านั้นๆด้วย
ดังนั้นหากผู้ประกอบการหรือประชาชนที่สนใจจะทำธุรกิจส่งออกสินค้าชิ้นส่วนเน้ือได่หรือเน้ือสัตว์อื่นรวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด สามารถสอบถามหรือปรึกษาได้ที่คลีนิกส่งออกสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 026534444 ต่อ 3124 หรือ 3134 หรือติดต่อผ่านทาง E-mail :[email protected] หรือ แอพพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา