ตลอดหลายปีที่ผ่านมาการบริหารจัดการระบบน้ำบนพื้นที่สูง เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก จากสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่มุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยว และอาศัยน้ำในช่วงฤดูฝน ทำให้พื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จนกระทั่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. นำโครงการเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนที่เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมนับตั้งแต่ปี 2557
ชุมชนต้นแบบบ้านแม่วาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีการบริหารจัดการในระดับ ดีเลิศที่การันตีด้วยรางวัลเลิศรัฐ ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม(Effective Change)ถือเป็นชุมชนต้นแบบซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรทั้งหมด 327 คน 102 ครัวเรือน เกษตรโดยส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก มีพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,506.54 ไร่ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างรุนแรง จนกระทั่ง ปี 2557 สวพส. โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ ร่วมกับชุมชนบ้านแม่วาก และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร ได้จัดทำแผนชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทบทวนปัญหาความต้องการของชุมชน วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ และกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกัน พบว่า ชุมชนไม่มีแหล่งต้นน้ำของตนเอง ไม่สามารถปลูกพืชทางเลือกอื่นนอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงต้องการพัฒนาแหล่งน้ำบนพื้นที่ “สันดอยยาว” ในเนื้อที่กว่า 600 ไร่ ซึ่งชุมชนไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ( สวพส.) กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าดำเนินการตามความต้องการของชุมชนบ้านแม่วาก มีการถอดบนเรียนกระบวนการเรียนรู้เพื่อวางแผนงานร่วมกับชุมชนในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร วางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีความยั่งยืน พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นปลูกไม้ผลในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม การจัดทำแผนชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาสำคัญของชุมชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความต้องการของชุมชนที่แท้จริง ประเมินศักยภาพของชุมชน โอกาส ภัยคุกคาม จุดแข็ง จุดอ่อน และข้อจำกัดต่าง ๆ
รวมทั้งการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ในการสำรวจจัดทำฐานข้อมูลของชุมชน ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงของเกษตรกร จัดทำขอบเขตพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกิน (Zoning) กระบวนการเก็บข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านการวางแผนตามความต้องการของชุมชน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอาชีพเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยใช้เครื่องมือ GPS ให้เกษตรกรเดินรอบแปลงที่ทำกินของตัวเอง และบันทึกข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่และตรวจเช็คความถูกต้อง แบ่งปันการใช้ข้อมูลร่วมกันในชุมชน เกิดเป็นแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงของเกษตรกรบ้านแม่วากขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชุมชนและหน่วยงานเห็นภาพบริบทชุมชนร่วมกัน เกิดการร่วมวิเคราะห์ และวางแผนในการพัฒนาได้ตรงกับปัญหาที่แท้จริง
ในขณะเดียวกัน สวพส. ร่วมคิดวิเคราะห์ ร่วมจัดทำแผนบูรณาการ กำหนดเป้าหมาย แผนงาน โครงการ กิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งพบว่าชุมชนให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นอันดับ 1 ชุมชนจะได้มีน้ำในการผลิตพืชทางเลือกในการทำอาชีพการเกษตรมากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ประกอบด้วย (1) สร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปี (2) ปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (3) สร้างพื้นที่สีเขียวในแปลงเกษตรและพื้นที่ป่าของชุมชน (4) สร้างป่าสร้างรายได้ (5) ลดปัญหาหมอกควัน
โดย สวพส. สนับสนุนเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ งบประมาณในการดำเนินงาน เครื่องมือแผนที่ต่าง ๆ ที่ใช้ในการวางแผนการพัฒนา และเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานระหว่างชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในพื้นที่ แต่ละภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละระยะของการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน
ความสำเร็จของบ้านแม่วาก เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมดำเนินงานทุกภาคส่วน ผ่านกิจกรรมสำคัญ ๆ คือ การใช้แผนที่ในการวางแผนการพัฒนาร่วมกัน (one map) ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ ร่วมตกลงวางแผนและตัดสินใจ ชุมชนรับทราบข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ลดความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน การพัฒนาผู้นำด้านทักษะและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชน การถอดบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ โดยชุมชนแม่วากได้รับการยกย่องว่าเป็น “หมู่บ้านเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ” ให้กับชุมชนรอบข้างเข้ามาเรียนรู้
ปัจจุบันชุมชนบ้านแม่วากมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรจำนวนกว่า 40 บ่อ ปริมาณน้ำทั้งหมด 5,780 ลบ.ม พื้นที่ได้รับประโยชน์ 624.42 ไร่ เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์ 66 ราย จำนวน 72 แปลง และมีแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เกิดรูปแบบการดำเนินงานเป็น “แม่วากโมเดล” เพื่อดำเนินการต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทุกวันนี้บ้านแม่วากเกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกลายเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกไผ่ผสมผสาน ไม้ผลไม้มีค่ากว่า 58 ชนิด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของชุมชนและความสมบูรณ์ของพื้นป่า