ลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่มีแหล่งปลูกดั้งเดิม อยู่ที่ทางตอนใต้ของแถบมณฑลกวางเจาประเทศจีน เสฉวนและยูนาน ชาวจีนแถบนั้นรู้จักปลูกลิ้นจี่กันมาไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี แต่การแพร่กระจายออกไปจากถิ่นเดิมมีน้อยมาก และค่อนข้างช้ากว่าไม้ผลชนิดอื่นๆ คงแพร่หลายกันแต่ภายในประทศจีนเท่านั้น
ในอินเดียมีรายงานว่ามีการปลูกลิ้นจี่กันมานานเช่นกัน แต่ความนิยมไม่แพร่หลายมากเหมือนในประเทศจีน
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ประชาชนชาวไทยกำลังให้ความนิยมเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแล้วชาวจีนและชาวยุโรปจะถือว่าลิ้นจี่เป็นผลไม้พิเศษ เป็นของฝากที่ภูมิใจทั้งผู้ให้และเป็นเกียรติแก่ผู้รับ อาจเป็นเพราะมีช่องฤดูกาลที่ออกสู่ตลาดสั้น ติดผลค่อนข้างยาก มีราคาแพง และที่สำคัญก็คือลิ้นจี่มีรสชาติดี มีสีสันน่ารับประทาน
ปัจจุบันมีการปลูกลิ้นจี่กันแพร่หลาย นอกจากประเทศจีนแล้วก็เหมือนมี อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ฮ่องกง แอฟริกาใต้ รัฐควีนแลนด์ของออสเตรเลีย รัฐฟลอริดา และของสหรัฐ
ลิ้นจี่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Litchi chinensis sonn สกุล Ncphelium วงศ์ Sapindaceae ไม้สกุลเดียวกันในโลกได้แก่ เงาะ ลำไย และคอแลน ลิ้นจี่มีชื่อสามัญเรียกกันหลายอย่างได้แก่ Litchi, lichee, Laichi, Lerchee และ Lychee ชาวอินเดีย เรียกลิ้นจี่ว่า ลิทจี ชาวเขมร เรียกลิ้นจี่ว่า ตะเสรเมือน ซึ่งแปลว่า ลูกหงอนไก่ คนไทยในแถบภาคตะวันออก เช่น ตราด จันทบุรี และระยอง เรียกลิ้นจี่ว่า สีรามัน
ลิ้นจี่ เป็นชื่อของผลไม้ประเภทผลเดี่ยวซึ่งมีลักษณะเปลือกสีแดงชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE (ซึ่งก็คือวงศ์เดียวกับเงาะและลำไยนั้นเอง) ลิ้นจี่นั้นเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุนจึงถือว่าเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยที่สามารถนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายในรูปของผลไม้สดและผลไม้แปรรูป ปัจจุบันนี้ลิ้นจี่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว
ลิ้นจี่ ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเป็นผลไม้โปรดของหยางกุ้ยเฟย พระสนมของจักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงบัญชาให้ทหารม้านำลิ้นจี่จากแหล่งปลูกทางตอนใต้ของจีน เดินทางข้ามวันข้ามคืนมาถวายที่ฉางอาน
ลิ้นจี่เข้ามาปลูกในไทยสมัยไหน (จากข้อมูลสำนักการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา) ระบุว่า ประวัติการปลูกลิ้นจี่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ลิ้นจี่ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มาจากจีน เช่น พันธุ์ฮงฮวย พันธุ์กิมเจง พันธุ์โอเฮียะ พันธุ์จุดบี้ และพันธุ์หน่อมีจือ ที่บ้านทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยที่มีต้นเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. และมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่มีลิ้นจี่พันธุ์ฮ่องกงที่มีต้นอายุประมาณ 30 ปี ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่มีลิ้นจี่เปลือกหนาที่มีต้นอายุมากอยู่ 1 ต้น สำหรับลิ้นจี่พันธุ์โอเฮียะนั้น หลวงอนุสารสุนทรเป็นผู้นำมาปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นคนแรก ซึ่งขณะนี้อายุประมาณ 50 ปี ลิ้นจี่พันธุ์กะโหลกใบยาวและพันธุ์ค่อม ได้มีผู้นำเข้ามาปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่ที่บ้านพักสถานีรถไฟ ขณะนี้อายุประมาณ 40 ปี
จากการสำรวจต้นลิ้นจี่ต่างๆ ในแถบภาคเหนือ พอจะประมวลได้ว่า มีผู้นำลิ้นจี่เข้ามาปลูกในแถบนี้ เมื่อประมาณปี 2441 สำหรับหน่วยราชการ นายเริ่ม บูรณฤกษ์ หัวหน้ากองการค้นคว้าและทดลองกรมกสิกรรม ได้นำลิ้นจี่พันธุ์ต่างๆ จากภาคกลางของประเทศไทย และจากต่างประเทศ เช่น ฮาวาย และไต้หวัน ไปปลูกที่สถานีกสิกรรมฝางเมื่อปี 2500 พันธุ์ลิ้นจี่ที่นำมาปลูกในครั้งนั้น ได้แก่ บริวสเตอร์ มอริซัส หน่อมีจือ
ประวัติการปลูกลิ้นจี่ในภาคกลางของประเทศไทย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการปลูกลิ้นจี่กันในครั้งแรกในภาคกลางของประเทศไทย จากบันทึกของ ปาเลกัวซ์(ชาวฝรั่งเศส) เมื่อปี 2397 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้กล่าวไว้ว่า ประเทศสยามมีลิ้นจี่อยู่ 3 ชนิด คือ ลิ้นจี่แดง ลำไย เงาะ ถ้าวิเคราะห์ตามนี้แล้ว แสดงว่ามีการปลูกลิ้นจี่มาก่อนปี 2397 อย่างแน่นอน ในสวนในกรุงเทพมหานคร ยังคงมีต้นลิ้นจี่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี อยู่ทั่วไป
สันนิษฐานว่า คงจะมีการนำลิ้นจี่เข้ามาปลูกกันในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยชาวจีนเป็นผู้นำเข้ามา ซึ่งในสมัยนั้นไทยมีการค้าขายกับชาวจีน เพราะมีการค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คุณหลวงบุเรศบำรุงการ ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ซึ่งก็คง 60 ปี มาแล้ว ท่านได้ไปเที่ยวสวนลิ้นจี่ ที่สวนศาลากุน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้รับประทานลิ้นจี่พันธุ์ดีจากสวนแห่งนี้ นับได้ว่ามีชื่อเสียงมากที่สุด ในครั้งนั้นลิ้นจี่ที่ท่านพบเห็นมีอายุประมาณ 20 ปี
เมื่อปี 2459 ท่านได้พบสวนลิ้นจี่ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง คือที่ส่วนของเจ้าคุณพิศุตร จีนชาติ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีการตกผลดีมาก ในระยะต่อมามีการปลูกลิ้นจี่กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบบางซ่อน แต่การตกผลไม่ดีนัก นอกจากนี้แล้วก็ยังมีการปลูกกันมากที่ตรอกจันทร์ ยานนาวา ดาวคะนอง และบางกรวย
เป็นที่น่าเสียดายที่ผลไม้แถบธนบุรีและนนทบุรีได้หดหายไปมาก เพราะความเจริญของบ้านเมือง กลายเป็นตึกรามบ้านช่องขึ้นมาแทน ลิ้นจี่ที่เคยมีให้เห็นอยู่มากเมื่อก่อนนี้ก็เหลือเล็กน้อย ลิ้นจี่พันธุ์ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้นมี 10 พันธุ์ ได้แก่ กะโหลกใบยาว เขียวหวาน ยักษ์ แห้ว อมรินทร์ กะโหลกดำ กระโถน(ท้องพระโรง) อีวุ่น และอีแบน
แม้ว่าแหล่งปลูกธนบุรีและนนทบุรีจะถูกโค่นทิ้งไปมาก แต่ในแถบจังหวัดสมุทรสงครามก็ยังคงปลูกกันอยู่มาก นอกจากจะรักษาพันธุ์เดิมได้แล้ว ยังมีพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีกหลายพันธุ์ โดยปลูกแบบยกร่องปะปนไปกับผลไม้อื่น เช่นที่ บางสะแก แควอ้อม บางกุ้ง เหมืองใหม่ ในเขตอำเภออัมพวา และในเขตอำเภอบางคณฑี
คุณสละ ปานรัตน์ ได้กล่าวไว้ว่า ลิ้นจี่เมืองสมุทรสงครามเป็นพันธุ์ที่มาจากประเทศจีน ชาวจีนนำผลลิ้นจี่มาขายหรือมาฝากญาติพี่น้องตามลุ่มแม่น้ำแม่กลองและแควอ้อม ในสมัยนั้นจังหวัดราชบุรี เป็นมณฑลหนึ่งซึ่งมีจังหวัดสมุทรสงครามขึ้นอยู่กับมณฑลนี้ด้วย จังหวัดราชบุรี เป็นเมืองใหญ่ พ่อค้าชาวจีนจึงได้ลำเลียงสินค้าเข้าปากอ่าวสมุทรสงครามไปสุดทางที่จังหวัดราชบุรีหรือที่ทำการของมณฑลราชบุรีในสมัยนั้น
ชาวจีนได้อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำแม่กลองเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะมีจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า เมื่อปี 2311 พระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้ชาวจีนในแถบลุ่มน้ำแม่กลองรวมกำลังกันตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายบางกุ้งไว้ จึงเรียกค่ายนั้นว่า ค่ายจีนบางกุ้ง ชาวสวนได้นำเมล็ดลิ้นจี่มาเพาะและปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตำบลเหมืองใหม่ และตำบลบางสะแก ชาวสวนได้ให้ความสนใจพยายามบำรุงลิ้นจี่เป็นอย่างดี
ลิ้นจี่เมืองสมุทรสงครามมีหลายพันธุ์และด้วยเหตุที่ปลูกด้วยเมล็ด จึงมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นพันธุ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในแถบนี้ และมีการตั้งชื่อพันธุ์ต่างๆ หลายพันธุ์ ต่อมาเมื่อชาวสวนนิยมปลูกกันมากขึ้น การขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอนก็มีมากขึ้น จนแพร่หลายกระจายออกไปสู่จังหวัดอื่น จนสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสมุทรสงคราม โดยนับได้ว่าลิ้นจี่เป็นผลไม้ทองของจังหวัดสมุทรสงคราม
(ที่มา : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา/วิกิพีเดีย)