นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเกษตรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้ โดยดำเนินการภายใต้แผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับนาข้าว และส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาใช้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับความต้องการของพืช เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยที่เกินความจำเป็น และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
สศท.8 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพเชิงเทคนิคและการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของข้าวนาปีจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของภาคใต้ เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินกับเกษตรกรทั่วไป โดยใช้ข้อมูลผลวิเคราะห์ดินรายแปลงจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นดินเหนียว ค่า PH อยู่ในช่วง 5 – 6 ซึ่งค่อนข้างเป็นกรด และยังขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าว โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน อีกทั้งส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกข้าวต่อเนื่องทุกปีโดยไม่ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูก ทำให้มีการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นและต้นทุนการผลิตสูง
ผลการศึกษาโดยสศท.8 ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2564/65จำนวน 66 ราย อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน ครอบคลุมตำบลทรายขาว และตำบลเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 33 ราย และกลุ่มเกษตรทั่วไป 33 ราย พบว่า เกษตรที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,381.80 บาท/ไร่/ปี หรือ 5.46 บาท/กิโลกรัม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 619.14 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 5,349.37 บาท/ไร่/ปี และมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,967.57 บาท/ไร่/ปี หรือ 3.18 บาท/กิโลกรัม ส่วนเกษตรกรทั่วไป มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,126.03 บาท/ไร่/ปี หรือ 5.92 บาท/กิโลกรัม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 527.80 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 4,560.19 บาท/ไร่/ปี และมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,434.16 บาท/ไร่/ปี หรือ 2.72 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาข้าวเปลือกนาปีที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ปี 2565 เฉลี่ย 8.64 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน แม้จะมีต้นทุนการผลิตรวมสูงกว่าเฉลี่ยร้อยละ 7.65 แต่เกษตรกรจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าร้อยละ 14.75 และมีผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ (กำไร) มากกว่าเกษตรกรทั่วไป ร้อยละ 27.11
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรที่ได้จากการนำเฉพาะผลวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักในดินแต่ละแปลงของเกษตรกรมาพิจารณาใช้งานร่วมกับคู่มือใช้ปุ๋ยที่ได้จากการวิจัยซึ่งจะแนะนำการเลือกใช้ชนิดและปริมาณแม่ปุ๋ยในการผสมปุ๋ยใช้เอง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการธาตุอาหารของพืช จึงได้เสนอแนวทางพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรด้วยนวัตกรรมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น มีผลผลิตต่อไร่ และรายได้เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ ด้านกระบวนการผลิต โดยลดปริมาณส่วนเกินปุ๋ยที่มากกว่าคำแนะนำจากผลการตรวจวิเคราะห์ดิน และส่งเสริมการอบรมถ่ายทอดความรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และด้านนวัตกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินง่ายขึ้น สร้างการรับรู้และได้เห็นแปลงต้นแบบการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรที่มีการตรวจวิเคราะห์ดินโดยการได้รับปัจจัยการผลิต
“ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรอบรมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินออนไลน์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ง่ายและรวดเร็ว สำหรับเกษตรกรควรรวมกลุ่มผลิตหรือจัดหาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการวางแผนใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกันล่วงหน้าก่อนฤดูกาลเพาะปลูก วางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อให้สามารถเก็บตัวอย่างดินได้ทันเวลาก่อนการเพาะปลูก และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเกษตรอื่นมาใช้ร่วมด้วยเพื่อลดการใช้ปัจจัยการผลิตด้านอื่น ๆ สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยเชิงลึกสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 อีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวทิ้งท้าย