1.ต้องเข้าใจหน้าที่ของธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจน(N )ช่วยบำรุงลำต้น ใบ ฟอสฟอรัส (P) ช่วยบำรุงราก ดอก โพแทสเซียม (K) ช่วยบำรุงผล ทำให้พืชแข็งแรง แคลเซียม(Ca) ทำให้เนื้อเยื่อพืชแบ่งตัวและแข็งแรง โบรอน (B ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร เป็นต้น จากนั้นจึงเลือกปุ๋ยให้ตรงกับที่ต้องการนำไปใช้บำรุงพืช
2. ใช้หลัก ซื้อสูตรที่ใช่ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ต้องจำสูตรปุ๋ย เพราะสูตรเดียวไม่ได้ใช้กับทุกพืช หรือไม่ได้ใช้กับทุกช่วงการเจริญเติบโต การซื้อป๋ยเลือกตราที่เชื่อถือได้ ซื้อในร้านที่ได้รับอนุญาตค้าปุ๋ย จะลดความเสี่ยงเรื่องปุ๋ยปลอมหรือปุ๋ยไม่เต็มสูตรได้
3. วิเคราะห์พืชก่อนใส่ปุ๋ย เช่น จะบำรุงส่วนไหน จะใส่ธาตุอะไร ปริมาณเท่าไหร่จึงเหมาะสมและใส่แล้วพืชเอาไปใช้ได้ไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
4. การวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย จะได้ทราบว่าในดินมีธาตุอาหารอะไรตกค้างอยู่บ้างแล้ว จะได้ใส่ให้น้อยลง วิเคราะห์ว่าดินมีสภาพเป็นกรดด่างเท่าไหร่ ดินที่กรดจัด หรือเป็นด่างจะทำให้ปุ๋ยที่ใส่ลงไปถูกดินยึดธาตุอาหารเอาไว้ พืชเอาไปใช้ได้น้อยลง ต้องปรับสภาพดินก่อน
5. ใส่ปุ๋ยช่วงดินมีความชื้น จะทำให้ปุ๋ยละลายลงในดิน แต่ถ้าดินแห้ง ปุ๋ยจะสูญเสียไปในอากาศ และใส่ในบริเวณที่มีรากฝอยอยู่มาก เช่น บริเวณตรงกับรอบทรงพุ่ม หรือฉีดพ่นทางใบ หรือให้ทางน้ำ
6. ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยฟอสเฟต เมื่อใส่ร่วมกับหินฟอสเฟตจะมีผลให้พืชได้ปุ๋ยฟอสเฟตเพิ่มขึ้น และการใส่ลงในดินที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงอยู่แล้วจะทำให้ไปละลายฟอสฟอรัสที่ถูกยึดตรึงอยู่ในดินให้ออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกครั้ง
7. การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี จะทำให้ปุ๋ยเคมีเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง ปุ้ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักเสริม จะช่วยเสริมการเจริญเติบโต และเป็นการลงทุนที่ราคาถูก
8. การประหยัดค่าลงทุนโดยการไม่ใส่ปุ๋ย เป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากต้นทุนไม่ได้คิดจากจำนวนเงินที่ใช้ซื้อปุ๋ยแต่จะคิดจากรายได้หารด้วยค่าปุ๋ย เช่น มีรายได้ 1,000 บาท ค่าปุ๋ย 200 บาท = ใช้ค่าปุ๋ย 1 บาท ให้รายได้ 5 บาท หรือคิดจากผลผลิตหารด้วยค่าปุ๋ย เช่น ผลผลิต 400 กก. ค่าปุ๋ย 200 บาท = ใช้ค่าปุ๋ย 1 บาท ให้ผลผลิต 2 กก. เป็นต้น
ที่มา บทความของ ธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่