นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2566 มีพื้นที่ปลูกประมาณ 18,000 ไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดผู้บริโภคราว 13.000 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 2,000 ล้านบาท ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวใกล ในการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จังหวัดศรีสะเกษเคยเป็นจังหวัดที่ยากจนในอันดับต้นๆของประเทศ พระองค์ได้ทรงใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยการจัดระเบียบประชากร นำราษฎรในชั้นในเข้ามาจัดตั้งหมู่บ้านตามแนวชายแดน และจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับราษฎรครอบครัวละ 15 ไร่ โดยอาศัยมติของคณะรัฐมนตรี ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขึ้นในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ กว่า 10 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการก่อสร้างครั้งแรกขึ้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยตาจู บ้านตานวน ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และมีรับสั่งกับผู้ถวายงานใกล้ชิดให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จขึ้น เพื่อฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับราษฎรตามแนวบริเวณชายแดน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ(สำนักงาน กปร.) เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมบูรณาการอย่างใกล้ชิด
การยกระดับทุเรียนคุณภาพทุเรียนภูเขาไฟสู่มาตรฐานสากลตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (Good agricultural practice : GAP) กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการคุมเข้ม โดยมอบหมายให้ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สวพ.4 ตรวจเข้มและให้การรับรองรองมาตรฐานทุเรียนภูเขาไฟทุกแปลง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก ในปี 2566 จังหวัดศรีสะเกษ มีแปลงทุเรียนภูเขาไฟที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตรแล้วประมาณ 600 แปลง ครอบคลุมพื้นที่การให้ผลผลิตครบทุกแปลง ประมาณ 8,000 ไร่ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้บูรณาการกับจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานพานิชย์จังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานภาคีการพัฒนา ร่วมกันพิจารณาให้กับรับรองมาตรฐาน GI ทุเรียนภูเขาไฟ ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษณ์ และอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ ครอบคลุมพื้นที่การผลิตทุเรียนในจังหวัดศรีสะเกษกว่าร้อยละ 95
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การคุมเข้มมาตรการการส่งออกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับด่านตรวจพืชช่องสะงำ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ด่านตรวจพืชเชียงของ จังหวัดเชียงราย ด่านตรวจพืชนครพนม ด่านตรวจพืชมุกดาหาร ด่านตรวจพืชช่องเม็ก และด่านตรวจพืชช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ และฝ่ายปกครองจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมบูรณาการตรวจเข้ม เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ระหว่างกัน โดยจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศวันเริ่มตัดทุเรียนตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2566 เพื่อป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน และมีการปล่อยแถวสารวัตรทุเรียน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ตามมาตรการตรวจก่อนตัด โดยมีจุดบริการตรวจทุเรียนก่อนตัดที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ส่วนแยกพืชสวน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 3 อำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ และมีการตรวจก่อนปิดตู้เพื่อส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติกักกันพืช