นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมาย นายมาร์ค กิลคีย์ (Mr. Marc Gilkey) ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกใต้ ผู้แทนจากสำนักงานให้บริการตรวจสอบพืชและสัตว์ (APHIS) กระทรวงเกษตรและสหรัฐอเมริกา (USDA) ประจำกรุงเทพมหานคร เข้าพบเพื่อมอบหนังสือแจ้งผลอย่างเป็นทางการ “ตามที่ APHIS ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการ ทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสี (dose mapping) ในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ก่อนการส่งออกที่ประเทศไทยนั้น ผลการดำเนินการได้สิ้นสุดแล้ว ขอแจ้งให้กรมวิชาการเกษตร ทราบว่าได้อนุญาตศูนย์ฉายรังสีของประเทศไทย สามารถดำเนินการฉายรังสีเพื่อการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาได้แล้ว พร้อมทั้งโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตในการดำเนินการส่งออกส้มโอได้” นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกผลไม้จะได้เพิ่มตลาดส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งสหรัฐอเมริกานับได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการส่งออกส้มโอจากประเทศไทยซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานสากลและรสชาติที่หวานฉ่ำสีสันสวยงาม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรและ APHIS ได้จัดทำโครงการ Pre Clearance Program ส่งออกผลไม้ ไปสหรัฐอเมริกา โดยที่ผ่านมา หน่วยงาน APHIS ให้การรับรองผลการทำ dose mapping ผลไม้สด 8 ชนิดคือ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร และเงาะ ที่ต้องฉายรังสีแกมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนการส่งออก โดยส้มโอเป็นผลไม้ชนิดล่าสุด อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำให้ผู้ส่งออก เกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทำแผนการส่งออกผลไม้สดทั้ง 8 ชนิด เพื่อให้สามารถส่งออกได้ตลอดทั้งปี โดยทาง APHIS จะจัดเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบตามแผนที่ผู้ส่งออกจัดทำไว้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการขยายการส่งออก และเป็นการลดค่าตรวจของเจ้าหน้าที่ของ APHIS ที่จะมาดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งออกส้มโอดังกล่าว และให้นโยบายกับ นายปัญญา พุกสุ่น ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ในการจัดทำแผนการส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรกของประเทศไทยทั้งทางอากาศและทางน้ำ ดังนี้ แผนทางอากาศ ประเทศไทยมีกำหนดการส่งออกส้มโอฉายรังสี พันธุ์ทองดี ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง และ ขาวแตงกวา จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม ไปสหรัฐอเมริกาครั้งแรก ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 และในชิปเมนท์ดังกล่าวยังได้จัดส่ง มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย จำนวน 108 กล่อง น้ำหนัก 540 กิโลกรัม รวมทั้งมังคุด จำนวน 20 กล่อง น้ำหนัก 140 กิโลกรัม เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในวันชาติของสหรัฐอเมริกา วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 จัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี
แผนทางเรือ บริษัท DP Produce Inc. จะส่งออกส้มโอ พันธุ์ทองดี และขาวน้ำผึ้ง จากประเทศไทยไปรัฐลอสแอนเจลิส ทางเรือ โดยเริ่มส่งออกวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ขนส่งโดยตู้บรรจุสินค้าขนาด 20 ตัน จำนวน 700 กล่อง ปริมาณ 8,400 กิโลกรัมเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียล (ระยะเวลาเดินทางจากประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาประมาณ 30 วันไม่ทำให้ส้มโอฉายรังสีเสียหายและรสชาติเปลี่ยนแปลง
ปริมาณและมูลค่าการส่งออกส้มโอของประเทศไทย ในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีการส่งออกส้มโอผลสดไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จำนวน 33,531 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,474.71 ล้านบาท ผู้ส่งออกที่สนใจจะส่งส้มโอฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกาสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานกำจัดศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โทร. 0 2940 6573 ต่อ 142
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร ยังได้หารือกับ APHIS ถึงความเป็นไปได้ในการลด dose ปริมาณรังสีแกมมาในการฉายรังสีผลไม้ให้ต่ำกว่า 400 เกรย์ และ ขอลดค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตรวจสอบศัตรูพืชก่อนการส่งออก ซึ่งคณะผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตรมีกำหนดการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือกับ USDA ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในประเด็นการขอลด dose ปริมาณรังสีแกมมาในการฉายรังสี รวมถึงความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศในด้านอื่นๆ ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่ออบรมแลกเปลี่ยนความรู้ สานต่อ ความสัมพันธ์ที่ดีทางการทูตระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่ยาวนานถึง 190 ปี