นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ที่บางส่วนมีสาเหตุมาจากการเผาพื้นที่ทำกินในการทำการเกษตร เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผา ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า กรมการข้าวได้เข้ามาส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงข้อดี ประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการสร้างคาร์บอนเครดิต โดยชาวนาจะต้องทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดก๊าซมีเทนในดินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาร่วมด้วยในทำนา เช่น การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ทำให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“การขายคาร์บอนเครดิต ถือเป็นการสร้างรายได้เสริม เพิ่มช่องทางรายได้มากขึ้นกว่าเดิม และยังเป็น การทำนาแบบรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม อีกด้วย” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
ด้านนางสาว อมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เปิดเผยว่า คาร์บอนเครดิต เป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย เปิดบัญชี T-VER credit กับ อบก. และซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง